ผู้เชี่ยวชาญได้ให้คำปรึกษาและแนะนำว่า ควรจะได้เปิดสอนวิทยาการนิวเคลียร์ ให้กว้างออกไป เพื่อสนองความต้องการของสังคม มิใช่แต่เพียงในสาขาวิศวกรรมนิวเคลียร์ เพื่อประโยชน์ของโครงการโรงไฟฟ้าพลังปรมาณูอย่างเดียว แต่เปิดให้ ผู้ที่อยู่สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ วิทยาศาสตร์การเกษตร วิทยาศาสตร์การแพทย์ ฯลฯ ได้เข้ามาเรียนด้วย
ระยะเริ่มแรก
ใน พ.ศ. 2511 ได้เริ่มต้นมีโครงการการศึกษานิวเคลียร์เทคโนโลยี เมื่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การพลังงานแห่งชาติ และสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้ร่วมกันพิจารณาโครงการโรงไฟฟ้าพลังปรมาณูของประเทศไทย และมีความคิดว่าสมควรจะได้จัดการฝึกอบรมทางวิทยาการนิวเคลียร์ (Nuclear Training Program) ขึ้นในประเทศไทยให้แก่วิศวกรเครื่องกลและวิศวกรไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ก่อนที่จะออกไปรับการฝึกอบรมในต่างประเทศเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าพลังปรมาณูแบบที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เลือกไว้โดยเฉพาะกับบริษัทผู้ผลิต จึงได้ติดต่อขอให้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับเป็นผู้จัดการวางหลักสูตรการฝึกอบรม
แต่เนื่องด้วยขณะนั้นคณะวิศวกรรมศาสตร์ยังไม่สามารถจะรับงานนี้ได้ จึงได้ส่งให้ ศาสตราจารย์สุวรรณ์ แสงเพ็ชร์ ออกไปวางหลักสูตรและเป็นผู้อำนวยการฝึกอบรม โดยจัดสถานที่สำหรับการสอนบรรยายที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ และที่โรงจักรพระนครเหนือของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ส่วนการสอนปฏิบัติการกับเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูก็ใช้สถานที่และอุปกรณ์ของสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ
ต่อมาใน พ.ศ. 2512 ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ได้เสนอให้ความช่วยเหลือโดยจัดส่งผู้เชี่ยวชาญคือ Mr.Gott มาให้คำปรึกษาและมอบอุปกรณ์นิวเคลียร์บางอย่างให้ ใน พ.ศ. 2513 คณะวิศวกรรมศาสตร์จึงได้รับหลักสูตรฝึกอบรมเข้าไว้เป็นหลักสูตรพิเศษของคณะฯ
ใน พ.ศ. 2514 ทางทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญคือ Professor Dr.Morton E. Wacks จาก University of Arizona ประเทศสหรัฐอเมริกา มาช่วยเหลือและให้คำปรึกษา ได้แนะนำ ว่า ควรจะได้เปิดสอนวิทยาการนิวเคลียร์ให้กว้างออกไป เพื่อสนองความต้องการของสังคม มิใช่แต่เพียงในสาขาวิศวกรรมนิวเคลียร์ เพื่อประโยชน์ของโครงการโรงไฟฟ้าพลังปรมาณูอย่างเดียว แต่เปิดให้ผู้ที่อยู่สาขาวิทยา-ศาสตร์กายภาพ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ วิทยาศาสตร์การเกษตร วิทยาศาสตร์การแพทย์ ฯลฯ ได้เข้ามาเรียนด้วย ในหลักสูตรการศึกษาแบบ Interdisciplinary เพราะความต้องการใช้วิทยาการนิวเคลียร์ในสาขาเหล่านี้ ก็มีมากพอๆ กับความต้องการทางด้านวิศวกรรม และได้แนะนำว่า การจัดการศึกษาน่าจะทำได้ในระดับปริญญาโท จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้เปิดสอนหลักสูตรนิวเคลียร์เทคโนโลยีขึ้นในบัณฑิตวิทยาลัย ในระดับปริญญาโทและระดับประกาศนียบัตรชั้นสูง โดย เปิดรับนิสิตรุ่นแรกใน พ.ศ. 2515 และให้ดำเนินการอยู่ภายใต้ความควบคุมของแผนกวิชาวิศวกรรมสุขาภิบาล
ใน พ.ศ. 2516 คณะวิศวกรรมศาสตร์จึงได้ พิจารณาจัดตั้งหน่วยวิชานิวเคลียร์เทคโนโลยีขึ้น โดยมีศาสตราจารย์ อรุณ สรเทศน์ คณบดีคณะวิศวกรรม-ศาสตร์ ในขณะนั้น เป็นหัวหน้าหน่วยฯ เพื่อให้การ ดำเนินงานคล่องตัวขึ้น ใน พ.ศ. 2517 ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญคือ Professor Dr.Morton E. Wacks กลับมาติดตาม ผลงาน และประเมินผลอีกครั้งหนึ่ง ทางฝ่ายผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่า การดำเนินงานขั้นแรกบรรลุผลตาม เป้าหมายพอสมควร และได้แนะนำว่า ควรจะได้จัดการขยายงานออกไปอีก คือ นอกจากการสอนทางทฤษฎี และภาคปฏิบัติ ก็ควรที่จะให้นิสิตปริญญาโทที่กำลังศึกษาอยู่เป็นจำนวนมากได้มีโอกาสศึกษา ปฏิบัติ และทำการวิจัยด้วยเป็นขั้นที่ 2 และเมื่อเป้าหมายของโครงการในขั้นที่ 2 สำเร็จลงแล้ว ทางมหาวิทยาลัยอาจจะพิจารณาโครงการในขั้นที่ 3 คือ เปิดศูนย์อบรมวิทยาการนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Regional Training) ขึ้นในประเทศไทย
ดังนั้นเมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2517 ที่ประชุมคณบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้มีมติให้ทำโครงการในขั้นที่ 2 นี้ และได้มอบให้ฝ่ายวิชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิจารณายกฐานะหน่วยวิชานิวเคลียร์เทคโนโลยีและจัดรูปการบริหารงานให้เหมาะสมกับหลักสูตรแบบ Interdisciplinary และพร้อมที่จะรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศได้
ใน พ.ศ. 2517 ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งแผนกวิชานิวเคลียร์เทคโนโลยี โดยใช้พื้นที่ตึกหลังเก่าของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) โดยมีคณาจารย์ประจำเพียง 2 ท่านเท่านั้น คือ ศาสตราจารย์สุวรรณ์ แสงเพ็ชร์ และรองศาสตราจารย์ ดร.ธัชชัย สุมิตร แต่มีอาจารย์พิเศษหลายท่าน และใน พ.ศ. 2519 จึงได้ย้ายจากตึก AIT เก่าของแผนกวิชาวิศวกรรมสุขาภิบาล มาที่ตึกบริหารของ AIT ใหม่ จนกระทั่งปัจจุบัน
พ.ศ. 2522 ได้เปลี่ยนชื่อจากแผนกวิชานิวเคลียร์เทคโนโลยี มาเป็นภาควิชานิวเคลียร์เทคโนโลยี
พ.ศ. 2536 ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรประกาศนียบัตรขั้นสูง และวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต จนกระทั่ง พ.ศ. 2538 ได้เพิ่มหลักสูตรอีก 1 หลักสูตร คือ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต เพื่อให้สอดคล้องกับพื้นฐานปริญญาตรีของผู้เข้าศึกษา ซึ่งในช่วงนี้รัฐบาลได้แสดงความสนใจโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์อีก ครั้งหนึ่ง โดยมีการจัดตั้งอนุกรรมการขึ้นมา 4 ชุด เพื่อศึกษาในด้านต่าง ๆ ระหว่าง พ.ศ. 2538-2543 ภาควิชานิวเคลียร์เทคโนโลยีจึงได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลแคนาดาภายใต้ “โครงการร่วมมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านนิวเคลียร์ระหว่างไทยกับแคนาดา” รวมทั้งสนับสนุนให้มีการพัฒนาหลักสูตรปริญญาตรี โท และเอก พ.ศ. 2539 ได้เสนอขอเปิดหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต และวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ แต่คณะกรรมการวิชาการของจุฬาฯ ให้ชะลอหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตไว้ก่อน เนื่องจากเห็นว่ายังไม่มีงานรองรับชัดเจน แต่หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตผ่านการอนุมัติ และได้เริ่ม เปิดรับนิสิตตั้งแต่ปีการศึกษา 2540 เป็นต้นมา และใน พ.ศ. 2550 ได้เสนอขอปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตไป
ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2554 ภาควิชาได้รับอนุมัติจากสภา แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้เปลี่ยนชื่อเป็น “ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์” (Nuclear Engineering) และใน พ.ศ. 2559 ได้รับการอนุมัติให้เปิดรับนิสิตในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมนิวเคลียร์และรังสีเป็นครั้งแรก
สถานภาพปัจจุบัน
ภาควิชามีหลักสูตรเปิดสอนอยู่ 4 หลักสูตร คือ หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์และรังสี หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานิวเคลียร์เทคโนโลยี หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมนิวเคลียร์ และหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต วิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ มีอาจารย์ประจำ ภาควิชา 11 ท่าน ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ เช่น เครื่องมือวัดทางนิวเคลียร์และรังสี การใช้รังสีในเชิงอุตสาหกรรมและการแพทย์ เทคโนโลยีเครื่องปฏิกรณ์และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เครื่องเร่งอนุภาค วัสดุนิวเคลียร์ รังสีในสิ่งแวดล้อม และพลาสมาฟิวชัน
รายนามหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์
1. ศาสตราจารย์สุวรรณ์ แสงเพ็ชร์ พ.ศ. 2517-2526
2. รองศาสตราจารย์ ดร.ธัชชัย สุมิตร พ.ศ. 2527-2533
3. รองศาสตราจารย์ชยากริต ศิริอุปถัมภ์ พ.ศ. 2534-2537
4. รองศาสตราจารย์นเรศร์ จันทน์ขาว พ.ศ. 2538-2543
5. รองศาสตราจารย์สมยศ ศริสถิตย์ พ.ศ. 2544-2547
6. ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุวิทย์ ปุณณชัยยะ พ.ศ. 2548-2551
7. รองศาสตราจารย์ ดร.สัญชัย นิลสุวรรณโฆษิต พ.ศ. 2552-2559
8. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงษ์แพทย์ เพ่งวาณิชย์ พ.ศ. 2560-ปัจจุบัน