สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ประวัติสมาคม (CUEA)

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถาบันการศึกษาทางวิศวกรรมที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุดของประเทศ ก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2456 มีอายุครบ 100 ปี ในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ใน พ.ศ. 2475 ได้มีการจัดตั้งสมาคมวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมในการทำกิจกรรมของนิสิตและนิสิตเก่าของคณะ ต่อมาใน พ.ศ. 2486 ได้ถูกยุบรวมกับสมาคมนายช่างก่อสร้างแห่งกรุงสยาม เพื่อรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อการร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม หลังจากนั้นเป็นต้นมาชาววิศวฯ จุฬาฯ จึงขาดสมาคมที่จะเป็นศูนย์กลางของนิสิตเก่า

จนกระทั่งใน พ.ศ. 2522 กลุ่มนิสิตเก่ารุ่นอาวุโส มีความเห็นว่า นิสิตเก่าวิศวฯ จุฬาฯ ควรมีศูนย์กลางในการทำกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สนับสนุนคณะวิศวกรรม และดูแลช่วยเหลือนิสิตปัจจุบัน นิสิตเก่าอาวุโสกลุ่มดังกล่าวจึงได้ร่วมกันก่อตั้ง “ชมรมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ขึ้น โดยถือเอาวันที่ 1 มิถุนายน 2522 ซึ่งตรงกับวันครบรอบปีที่ 66 ของคณะวิศวกรรมศาสตร์เป็นวันแห่งการสถาปนาชมรม โดยมีศาสตราจารย์อรุณ สรเทศน์ เป็นประธานชมรมท่านแรก ต่อมาใน พ.ศ. 2525 “ชมรมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ได้เปลี่ยนสถานะมาเป็น “สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” โดยมีเจตจำนงในการ ก่อตั้งสมาคมว่า เพื่อเป็นศูนย์กลางของนิสิตเก่าทุกรุ่น ที่จะทำกิจกรรมร่วมกัน และช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพื่อให้ความสนับสนุนคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามกำลังความสามารถในการธำรงไว้ซึ่ง ชื่อเสียงและเกียรติคุณ และเพื่อให้การดูแลและช่วยเหลือนิสิตปัจจุบัน

สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ฯพณฯ พลอากาศเอกกำธน สินธวานนท์ เป็นนายกสมาคมคนแรก ในสมัยที่ 1 และ 2 (พ.ศ. 2525-2530) ดร.อาณัติ อาภาภิรม เป็นนายกสมัยที่ 3 และ 4 (พ.ศ. 2531-2534) นายสมบูรณ์ มณีนาวา เป็นนายกสมัยที่ 5 และ 6 (พ.ศ. 2535-2538) นายพละ สุขเวช เป็นนายกสมัยที่ 7 (พ.ศ. 2539-2540) นายวีระวัฒน์ ชลายน เป็นนายกสมัยที่ 8 (พ.ศ. 2541-2542) ดร.เกษม ใจหงษ์ เป็นนายกสมัยที่ 9 (พ.ศ. 2543-2544) ดร.ศรีสุข จันทรางศุ เป็นนายกสมัยที่ 10 (พ.ศ. 2545-2546) นายวิเศษ จูภิบาล เป็นนายกสมัยที่ 11 (พ.ศ. 2547-2548) และนายอดิเทพ พิศาลบุตร์ เป็นนายกสมัยที่ 12

แต่ละยุคสมัยของนายกสมาคมมีการส่งมอบงาน และมีการสานงานเก่า สร้างงานใหม่อย่างต่อเนื่อง และราบรื่น ในยุคที่ ฯพณฯ พล.อ.อ.กำธน สินธวานนท์ เป็นนายกสมาคม สมาคมมุ่งเน้นในการหาทุนทรัพย์สำรองเพื่อการบริหารของกรรมการชุดหลัง ๆ จึงมิได้จัดกิจกรรมหลากหลาย เพียงเน้นการจัดกีฬาการกุศลเพื่อหารายได้ และการจัดงานคืนสู่เหย้าเท่านั้น

สมัยที่ ดร.อาณัติ อาภาภิรม เป็นนายกสมาคม กรรมการได้มีการริเริ่มกิจกรรมหลากหลาย เน้นการมี ส่วนร่วม การเชิญชวนนิสิตเก่าเข้ามาเป็นสมาชิกเพื่อ ความเข้มแข็งของวิศวฯ จุฬาฯ กิจกรรมที่มีการวางแผนทำในครั้งนั้น นอกเหนือจากงานคืนสู่เหย้าและการจัดกีฬา หารายได้แล้ว ได้มีการริเริ่มกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การ จัดงานประกาศเกียรติคุณวิศวกรดีเด่น การจัดเลี้ยงต้อนรับบัณฑิตใหม่ การจัดคอนเสิร์ตปราสาทแดงแห่งความหลัง การจัดทำบัตรสมาชิกของสมาคม นอกจากนี้ยังมีความคิดที่จะสร้างอาคารที่ทำการสมาคมตั้งแต่สมัยนั้น โดยการ รื้อโรงอาหารปัจจุบันออก แล้วสร้างเป็นอาคาร 5 ชั้น

การทำกิจกรรมที่มาจากความคิดริเริ่มเหล่านี้ ถึงแม้จะประสพผลสำเร็จในเชิงรายได้ แต่ท่านนายกสมาคมในครั้งนั้นก็ยังไม่คิดว่าเป็นความสำเร็จที่น่าพอใจ เนื่องจากนิสิตเก่ามาร่วมงานกันน้อย กิจกรรมจำกัดอยู่เพียงกลุ่ม พี่เก่าอาวุโสและนิสิตเก่าที่ถูกเกณฑ์มาจากหน่วยงาน ต่าง ๆ ท่านนายกสมาคม ดร.อาณัติ จึงได้ฝากความเห็นไว้ก่อนหมดวาระว่า สมาคมควรมีการพัฒนากลไกของการสื่อสาร เพื่อทำให้นิสิตเก่าได้รู้ถึงสิ่งที่สมาคมคิดทำ และให้นิสิตเก่ามีโอกาสบอกสมาคมว่าอยากให้สมาคมทำกิจกรรมใดบ้าง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของนิสิตเก่าทั้งหมด ไม่ใช่เพียงการทำกิจกรรมของนิสิตเก่ากลุ่มเดียว

เมื่อ นายสมบูรณ์ มณีนาวา เข้ามารับตำแหน่งนายกสมาคม ท่านจึงมีนโยบายปรับโครงสร้างการดำเนินงานของสมาคม โดยวางแผนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของการดำเนินงาน โดยเฉพาะในเรื่องกลไกการสื่อสาร โดยเริ่มจัดทำทำเนียบนิสิตเก่า เพื่อสร้างฐานข้อมูลในการสื่อสารกับนิสิตเก่า มีการวางแผนปรับรูปแบบสารสมาคม ซึ่งเป็นจดหมายข่าวของสมาคมขนาด 8 หน้า ให้เป็น วารสารที่เป็นรูปเล่ม มีการทำกิจกรรมชุมนุมประธานรุ่น ซึ่งเป็นการเชิญประธานรุ่นมารับประทานอาหารพูดคุยเสนอข้อคิดเห็นแก่สมาคม มีการวางแผนและร่างข้อบังคับชมรมกีฬา และมีการจัดสร้างที่ทำการชั่วคราวของสมาคม กิจกรรมเหล่านี้ถูกดำเนินการไปพร้อมกับกิจกรรมประจำที่เคยทำอยู่

ครั้นมาถึงสมัย นายพละ สุขเวช เป็นนายกสมาคม ท่านได้เร่งรัดทำสิ่งที่คณะกรรมการชุดก่อนจัดเตรียมไว้ให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยมีการจัดทำ “ทำเนียบนิสิตเก่าวิศวฯจุฬาฯ” จนแล้วเสร็จ การออกวารสารอินทาเนียเป็น ครั้งแรก มีการพัฒนาชุมนุมประธานรุ่นให้มีโครงสร้างใหม่ที่สมบูรณ์ขึ้นและเรียกชื่อใหม่ว่า คณะกรรมการกิจกรรมสัมพันธ์ อันประกอบด้วย ประธานรุ่น ตัวแทนคณาจารย์ ตัวแทนนิสิตเก่า และตัวแทนสมาคม มีการเชิญชวนนิสิตปัจจุบันเข้าร่วมทำกิจกรรมกับสมาคมอย่างใกล้ชิด จนทำให้สมาคมได้เห็นภาพปัญหาภายในคณะชัดเจนขึ้น และมีการศึกษาหาแนวทางสนับสนุนคณะ และแนวคิดตั้งกองทุน โดยได้มีการริเริ่มจัดทำเหรียญที่ระลึกครบรอบ 84 ปี วิศวฯ จุฬาฯ (สนับสนุนโดย นายโชค ศิวะสนธิวัฒน์ วศ.2507) เพื่อหารายได้ประเดิมของกองทุน และยังมีการทำกิจกรรมอื่น ๆ อีกมาก

เมื่อ นายวีระวัฒน์ ชลายน เป็นนายกสมาคมได้มีการขยายผลสิ่งที่กรรมการชุดก่อนสร้างไว้ โดยวารสาร อินทาเนียกลายเป็นวารสารที่ได้รับการกล่าวขวัญอย่างมากจากนิสิตเก่า ด้วยฝีมือของคุณดอก (เริงศักดิ์ ปานเจริญ วศ.2512) คณะกรรมการกิจกรรมสัมพันธ์เปลี่ยนชื่อเป็น คณะกรรมการสมาชิกสัมพันธ์ มีตัวแทนรุ่นมาประชุมกันอย่างคับคั่ง โดยสาระหลักเป็นการแสดงความเห็นต่อการแก้ไขปัญหาการผลิตบัณฑิตของคณะ สมาคมมีการตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางช่วยเหลือคณะ ซึ่งมี รศ. ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ วศ.2515 เป็นประธาน ซึ่งผลที่ได้คือแผนพัฒนาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งสะท้อนให้นิสิตเก่าได้เห็นถึงปัญหาและหนทางที่จะ แก้ปัญหาของคณะ ตลอดจนหนทางที่นิสิตเก่าจะเข้ามา ช่วยเหลือคณะได้ และสมาคมได้ส่งแผนนี้ไปขอความ เห็นชอบจากคณะกรรมการสมาชิกสัมพันธ์ หลังจากการปรับปรุงแล้ว สมาคมได้ทำการส่งมอบแผนนี้ให้ท่านคณบดี ซึ่งท่านคณบดีในขณะนั้นรับมอบด้วยความยินดียิ่ง และแผนพัฒนาคณะนี้ยังนำไปสู่การร่างระเบียบจัดตั้งกองทุนพัฒนาคณะ ซึ่งภายหลังสมาคมได้มีการส่งมอบเงินสด 500,000 บาท และเหรียญที่ระลึกครบรอบ 84 ปี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มูลค่ารวม 7 ล้านบาท เป็นทุนประเดิมของกองทุนนี้ กองทุนพัฒนาคณะนี้ได้เป็นกลไกที่ทำให้นิสิตเก่ามีโอกาสเข้าไปร่วมพัฒนาคณะได้อย่างเป็นรูปธรรม 

สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในสมัยของท่านนายกวีระวัฒน์ ยังได้กำเนิดชมรมกอล์ฟวิศวจุฬา ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ได้เชื่อมความสัมพันธ์ของนิสิตเก่ารุ่นต่าง ๆ สมาคมยังมีการช่วยเหลือบัณฑิตจบใหม่ที่ไม่มีงานทำในยุควิกฤตเศรษฐกิจ โดยการประสานผ่านวารสารอินทาเนีย และเป็นตัวกลางหางานให้ สมาคมร่วมกับอาจารย์ทำแบบสอบถามไปยังนิสิตที่ได้จบไประหว่าง 1 ถึง 5 ปี เพื่อติดตามผลว่าความรู้ที่ได้จากสถาบันเพียงพอต่อการทำงานหรือไม่ และมีความเห็น ในการปรับปรุงหลักสูตรอย่างไร โครงการบูรณะอาคารสุขาภิบาลเพื่อสร้างเป็นที่ทำการสมาคมก็เริ่มในสมัยนั้น

เมื่อสมัย ดร.เกษม ใจหงษ์ ได้สานงานต่อในด้านกิจกรรมสัมพันธ์ โดยมีการเชิญประธานรุ่นเข้ามาเป็นกรรมการอำนวยการหลายท่าน ในการจัดการบริหารงานสมาคม มีการแบ่งสายงานบริหาร ให้อุปนายกเป็นประธานในแต่ละสายงาน แบ่งเบาภาระของนายกสมาคม และเลขาธิการ สมัยนั้น ได้ดำเนินการสร้างที่ทำการสมาคมถาวร โดยการบูรณะอาคารสุขาภิบาลเดิม ในการนี้ วศ.2503 รุ่นของคุณเกษมได้บริจาคเงินจำนวน 1 ล้านบาทให้สมาคม เพื่อสมทบทุนดำเนินการ โครงการนี้ได้รองศาสตราจารย์ ดร.บุญสม เลิศหิรัญวงศ์ (วศ.2513) ซึ่งขณะนั้นทำหน้าที่รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต เป็นหัวหน้าโครงการดำเนินการออกแบบ จัดจ้างการก่อสร้าง และตกแต่งที่ทำการสมาคมจนแล้วเสร็จในวงเงินประมาณ 7 ล้านบาท เมื่อมีที่ทำการสมาคมแล้ว ได้เกิดแนวคิดที่จะประชาสัมพันธ์งานวิจัยหรือวิชาการของคณะและนิสิตเก่าต่อสังคมมากขึ้น ได้มีการจัดงาน Intania Innovation Show ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ใช้ชื่องานว่า Thai Tech 2001 และได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการทะเบียนเพื่อ จัดทำทะเบียนสมาชิกให้ถูกต้องและทันสมัย นอกจากนี้ ยังได้เริ่มมีการจัดงานสัมมนา Forum ขึ้น ใช้ชื่อว่าวิศวจุฬา Forum มีการระดมเงินช่วยเหลือ นายปิยะกาญจน์ ศิริทรัพย์ วศ.2538 ซึ่งประสบอุบัติภัย ขาดทุนทรัพย์ ในการเยียวยารักษา

ในยุคของท่านนายก ดร.ศรีสุข จันทรางศุ วศ.2505 ได้สานงานเดิมต่อแล้วริเริ่มการสร้างและปรับปรุงเว็บไซต์ โดยได้รับสิทธิ์ Domain Name ชื่อ intania.com มาใช้ ในสมัยนั้นได้มีการดำเนินการจัดทำบัตรสิทธิประโยชน์ ร่วมกับธนาคารกรุงไทยเป็นบัตรเครดิต KTC-วิศวจุฬา ให้แก่สมาชิก และบริษัทบางจากปิโตรเลียมได้ออกบัตรบางจากให้ส่วนลดการเติมนํ้ามันและสามารถโอนส่วนลดนี้เป็นรายได้ของสมาคมได้อีกด้วย มีการริเริ่มโครงการ พี่เก่าแนะแนวน้อง อันเป็นประโยชน์แก่นิสิตปัจจุบันเป็นอย่างมาก เกิดเป็นแนวทางในการเตรียมตัวหรือตัดสินใจที่จะทำงานหรือจะเรียนต่อ นอกจากนั้นสมาคมได้เข้าร่วมในงาน “นัดพบตลาดงานทางวิศวกรรม” ของคณะ โดยมีนิสิตเก่ามาบรรยายให้ความรู้ในงานดังกล่าวด้วย ในส่วนการช่วยเหลือสมาชิกที่ประสบอุบัติเหตุ ได้เป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาจัดตั้งโครงการกองทุนวิศวจุฬาสงเคราะห์ขึ้นตั้งแต่สมัย ดร.ศรีสุข จันทรางศุ นี้เอง

เมื่อถึงยุค นายวิเศษ จูภิบาล เป็นนายกสมาคม ซึ่งตรงกับสมัย ดร.ดิเรก ลาวัณย์ศิริ วศ. 2511 ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะวิศวฯ จุฬาฯ ได้เกิดความร่วมมือระหว่างคณะกับสมาคมแนบแน่นยิ่งขึ้น กิจกรรมต่าง ๆ ของสมาคมจะได้รับความเอื้อเฟื้อ สนับสนุนจากคณะเป็นอย่างดียิ่ง กลุ่มนิสิตปัจจุบันได้เข้ามาเป็นกำลังในเกือบทุกงานที่จัดขึ้น กองทุนวิศวจุฬาสงเคราะห์ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นสำเร็จในวาระนี้ ได้มีการจัด Intania Forum ในหัวข้อที่ทันเหตุการณ์และเป็นประโยชน์แก่สมาชิกมากขึ้น อีกทั้งได้กำเนิด Forum สำคัญ คือ Executive Engineer Talk ที่รวบรวมขุนพลนิสิตเก่าในภาคธุรกิจและการเงินมาเสวนาให้ความรู้แก่สมาชิกและบุคคลทั่วไป เป็นการสร้างชื่อเสียงให้แก่ สมาคมและความเป็นนิสิตเก่าวิศวฯ จุฬาฯ ในด้านการติดต่อสัมพันธ์ในหมู่มวลสมาชิก สมาคมได้สร้างเว็บไซต์ www.intania.com ได้สำเร็จในวาระนี้ นับว่าเป็นสื่อสัมพันธ์ที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่วิศวฯ จุฬาฯ นอกจากนี้การประกาศเกียรติคุณวิศวกรดีเด่นในยุคนี้ได้เริ่มจัดเป็นงานในลักษณะ Dinner Talk เพื่อหารายได้ให้กองทุนวิศวจุฬาสงเคราะห์ และสนับสนุนการเรียนการสอนของคณะ โดยได้ทำการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชนเพื่อเผยแพร่เกียรติคุณผู้ได้รับรางวัลให้สังคมได้รับทราบโดยทั่วกัน ในยุคท่านนายกวิเศษนั้น สมาคมได้เน้นการตลาดและประชาสัมพันธ์ เพื่อการหารายได้ การบริการสมาชิกและการเผยแพร่ชื่อเสียงวิศวฯ จุฬาฯ นับว่าได้ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง

ในวาระปี พ.ศ. 2549-2550 นายอดิเทพ พิศาลบุตร์ เป็นนายกคนที่ 12 ได้มีการสานต่องานของคณะกรรมการชุดเก่า อาทิ การจัดงาน Intania Forum นอกจากนั้นยังได้ริเริ่มโครงการใหม่ๆ เพิ่มเสริมสร้างให้สมาคมและคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันได้ในระดับเอเชีย โดยมีการก่อตั้ง “มูลนิธิส่งเสริมนวัตกรรมวิศวกรรม” โดยมีวัตถุประสงค์การก่อตั้งเพื่อร่วมผลักดันความเติบโตให้ก้าวหน้าอย่างเข้มแข็งให้แก่ประเทศไทย โดยเฉพาะด้านวิศวกรรมศาสตร์ของประเทศ ไทยให้ก้าวสู่ความเป็นเลิศอย่างยั่งยืน โดยพันธกิจสำคัญของมูลนิธิฯ คือ “มุ่งมั่นสรรค์สร้างนวัตกรรมวิศวกรรม

นอกจากนั้นในงานการมอบรางวัลวิศวจุฬาดีเด่นครั้งที่ 10 (พ.ศ. 2550) ได้มีโครงการสรรหา “วิศวจุฬากิตติคุณอาวุโสดีเด่น” ครั้งที่ 1 ขึ้น เพื่อเป็นการยกย่อง เชิดชู สรรเสริญ และประกาศเกียรติคุณแก่นิสิตเก่าและคณาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ประกอบคุณงามความดี สร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ ได้รับการยอมรับนับถือจากบุคคลทั่วไป โดยจะต้องเป็นผู้ที่ทำงานมาไม่น้อยกว่า 30 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ซึ่งผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะได้รับการจารึกนามประกาศเกียรติคุณไว้ใน หอเกียรติยศ (Hall of Fame) โดยครั้งแรกที่ได้ดำเนินกิจกรรมนี้มีผู้ได้รับการ คัดสรรทั้งหมด 8 ท่าน ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับและ มีคุณสมบัติเหมาะสมทุกประการ

ต่อมาใน พ.ศ. 2551-2552 วิศิษฎ์ อัครวิเนค ได้รับการเลือกตั้งจากสมาชิกสมาคมดำรงตำแหน่งนายกสมาคม ถือเป็นนายกสมัยที่ 13 จากนั้น ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ก็สานงานต่อได้เป็นนายกสมาคม สมัยที่ 14 ช่วง พ.ศ. 2553-2554 และใน พ.ศ. 2555-2556 วีระศักดิ์ โฆษิตไพศาล ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคม สมัยที่ 15 ใน พ.ศ. 2556 มีเหตุการณ์ที่สำคัญคือ เป็นปีที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาปนาครบ 100 ปี ดังนั้นทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ และสมาคมนิสิตเก่าวิศวฯ จุฬาฯ จึงร่วมกันจัดงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ ภายใต้คำขวัญที่ว่า “100 ปีวิศวฯ สร้างคน คนสร้างชาติ” มีการจัดกิจกรรมมากมายตลอดทั้งปี รวมทั้งการสร้างอาคารวิศวฯ 100 ปี ด้วย การจัดงานของคณะวิศวฯ และสมาคมนิสิตเก่าวิศวฯ จุฬาฯ ครั้งนั้น ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เป็นผลงานที่ น่าภาคภูมิใจของนิสิตเก่าวิศวฯ จุฬาฯ ทุกคน

จากนั้น นำชัย หล่อวัฒนตระกูล ได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคม สมัยที่ 16 พ.ศ. 2557-2558 และ สรัญ รังคสิริ ก็ดำรงตำแหน่งนายกสมาคม สมัยที่ 17 พ.ศ. 2559-2560 และปัจจุบัน สมาคมนิสิตเก่าอยู่ภายใต้การบริหารของ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ นายกสมาคม สมัยที่ 18 พ.ศ. 2561-ปัจจุบัน