การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ

อาคารวิศวกรรมศาสตร์ 1

อาคารวิศวกรรมศาสตร์ 1 ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นอาคารหลังแรกที่ได้ มีการก่อสร้างขึ้น ผู้ที่ทำการออกแบบคือ คุณพระเจริญวิศวกรรม ซึ่งเป็นทั้งอาจารย์และคณบดีของคณะวิศวกรรม- ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คาดว่าได้เริ่มทำการก่อสร้างอาคารเมื่อประมาณ พ.ศ. 2473 แล้วเสร็จและเปิดใช้งานใน พ.ศ. 2477 ในตอนเริ่มแรกนั้นได้มีการออกแบบและดำเนินการก่อสร้างให้เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น มีดาดฟ้า จากข้อมูลที่รวบรวมได้นั้น ไม่มีการระบุว่าใครเป็นผู้ที่รับเหมาก่อสร้างแต่คาดว่าคุณพระเจริญวิศวกรรมได้เป็นผู้ที่ควบคุมงาน อาคารดังกล่าวสร้าง บนพื้นที่ว่างด้านตะวันตกของตึก อักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้านหลังอาคารวิศวกรรมศาสตร์ 1 ออกไปเป็นพื้นที่โล่ง เขตมหาวิทยาลัยทั้งหมดตั้งอยู่ในทุ่งพญาไท อาคาร ดังกล่าวมีลักษณะทั่วไปคือเป็นอาคารโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กแบบมาตรฐาน มีบันไดทางขึ้นจากชั้น 1 ไปชั้น 2 อยู่ 2 แห่ง โดยมีบันไดหลักอยู่บริเวณกลางอาคาร มีคานคอดินหนาลึก รองรับกำแพงอิฐ ซึ่งผนังอิฐที่ใช้เป็นอิฐรับแรง 2 ชั้น โดยที่ผนังด้านนอกของตัวอาคารไม่ฉาบปูน เพราะต้องการโชว์ความงามทางด้านสถาปัตยกรรมให้เป็นปราสาทสีแดงและต้องการความสวยงาม เป็นสีเลือดหมู การออกแบบได้อิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก มีความขลังของความเป็นสำนักสำหรับผลิตวิศวกรสมัยใหม่ ซึ่งไม่ขัดแย้งกับตึกอักษรศาสตร์ซึ่งเป็นแบบไทย เนื่องจากเว้นระยะห่างกันพอสมควร โดยอิฐที่ใช้นี้นำเข้ามาจากประเทศอังกฤษ มีขนาด 24 x 13 x 8 เซนติเมตร การเรียงอิฐ เป็นการเรียงแบบสลับกัน และได้มีการ ยาแนวระหว่างอิฐ ซึ่งรอยยาแนวดังกล่าวมีลักษณะเป็นแนวนูนออกมา ปูนที่ใช้ ในการก่อสร้างคาดว่าใช้ปูนที่ผลิตในประเทศไทย เนื่องจากมีข้อมูลของประเทศไทยว่า เริ่มมีการผลิตปูนซีเมนต์ได้ตั้งแต่ พ.ศ. 2456

การเปลี่ยนแปลงทางกายยภาพ

ในส่วนเหล็กเสริมที่มีการใช้ใน สมัยนั้นจะมีการใช้เพียงเหล็กเส้นกลมตันธรรมดา เนื่องจากว่ายังไม่มีการผลิตหรือนำเข้ามาใช้ในประเทศ ในการก่อสร้างฐานรากนั้นใช้เป็นฐานรากแบบแผ่ เนื่องจากว่าในสมัยนั้นยังไม่มีการใช้ เสาเข็ม และอาคารขนาด 2 ชั้น การใช้ฐานรากแบบแผ่ก็เพียงพอแล้ว โดยใช้ไม้สักซึ่งเป็นไม้ท่อนซุงไม่ทราบขนาดจำนวนไม่น้อยกว่า 150 ต้น มาประกอบกันเป็นฐานราก การที่ฐานรากเป็น แบบแผ่นั้น ทำให้อาคารมีการทรุดตัวได้มากกว่าฐานรากเสาเข็ม แต่อาคาร ดังกล่าวมีการทรุดตัวที่เท่ากัน จึงไม่ทำให้เกิดปัญหาต่อตัวโครงสร้าง การทรุดตัวจะสังเกตได้จากระดับของตัวอาคารและทางเท้าด้านข้าง จากการสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2546 พบว่าระดับ พื้นชั้นหนึ่งสูงจากพื้นถนนที่วัดได้ โดยประมาณคือ 110 เซนติเมตร

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ต่อมาใน พ.ศ. 2497 ได้ทำการ ต่อเติมอาคารวิศวกรรมศาสตร์ 1 เพิ่มอีก 1 ชั้น เป็น 3 ชั้น ในส่วนของดาดฟ้าได้เปลี่ยนเป็นหลังคา โดยในสมัยนั้นศ.อรุณ สรเทศน์ เป็นคณบดี โดย งบประมาณที่ใช้ในการต่อเติมอาคารประมาณ 1 ล้านบาท ส่วนของโครงหลังคานั้นมีการออกแบบเป็นโครงถัก โดยวัสดุที่ใช้ทำเป็นไม้เต็ง ในการที่ เลือกใช้โครงหลังคาเป็นไม้นั้น เนื่องจาก ในสมัยนั้นไม้หาได้ง่ายและมีราคาถูก ในส่วนของหลังคาอาคารใช้กระเบื้องที่ทำมาจากปูนซีเมนต์ที่เรียกว่ากระเบื้องวิบูลย์ศรี ซึ่งกระเบื้องดังกล่าวเป็น กระเบื้องคอนกรีตที่มีความสามารถ ในการรับแรงได้ประมาณ 100 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ต่อมาใน พ.ศ. 2528 ได้ทำการ ซ่อมบำรุงในส่วนของหลังคา โดยเปลี่ยนจากกระเบื้องวิบูลย์ศรีมาใช้เป็นกระเบื้องซีแพคโมเนีย ซึ่งมีความสามารถในการรับแรงได้ดีกว่า นอกจากนี้ได้มีการเปลี่ยนไม้ระแนงโครงหลังคาทั้งหมดและได้มีการเสริมจันทันอีกประมาณ 20% เนื่องจากโครงหลังคาดังกล่าว เกิดการชำรุดเนื่องจากหลังคาเก่ามีการรั่วซึม วัสดุที่ใช้เป็นไม้เต็งอาบนํ้ายาจากประเทศมาเลเซีย

บรรยากาศทางเดินภายในอาคารวิศวกรรมศาสตร์ 1
บรรยากาศทางเดินภายในอาคารวิศวกรรมศาสตร์ 1

ลักษณะพื้นของอาคารวิศวกรรมศาสตร์ 1 ชั้น 1 และ 2 ในส่วนของห้องจะเป็นพื้นไม้ แต่ส่วนระเบียงทางเดินจะเป็นหินขัด โดยที่ หินขัดดังกล่าวเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมจัตุรัสมาต่อกัน ขนาดของแผ่นหินขัด 30 x 30 เซนติเมตร แต่ในส่วนของชั้น 3 จะใช้เป็นแผ่นคอนกรีตธรรมดา ขนาด 30 x 30 เซนติเมตร สาเหตุที่พื้นชั้น 3 แตกต่างกับชั้น 1 และ ชั้น 2 เนื่องมาจากเคยเป็นดาดฟ้าของอาคารมาก่อน ข้อดีของการเลือกใช้กระเบื้องจัตุรัสมาต่อกันคือ จะไม่เกิดความเสียหายจากการยืดหดตัวของพื้นอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ

อาคารวิศวกรรมศาสตร์ 2

อาคารวิศวกรรมศาสตร์ 2 ได้มีการก่อสร้างภายหลังจากที่ก่อสร้างอาคารวิศวกรรมศาสตร์ 1 เป็นเวลา 4 ปี โดยมีบันทึกว่า เป็นตึกสำหรับทำการสอบวิชาวิศวกรรมศาสตร์ สร้างเป็นตึก 2 ชั้น แบบโครงคอนกรีตเสริมเหล็ก ผนังก่ออิฐ ด้านนอกตึกไม่ถือปูน ขนาดของตึกยาว 64.00 เมตร กว้าง 12.50 เมตร ด้านหน้าตึกมีมุขยื่นออกตรงกลางซึ่งเป็นบันได 25 เซนติเมตร กว้าง 5.65 เมตร 2 ส่วนปลายทั้งสองข้างยื่นออกมา ด้านหน้า 2.5 เมตร กว้าง 10.00 เมตร ด้านหลังอาคารบริเวณกลางอาคารยื่นออกไปข้างหลัง 5.60 เมตร กว้าง 16.00 เมตร หัวท้ายยื่นออก 2.50 เมตร กว้าง 10.00 เมตร มีบันไดขึ้น 2 บันได มี ทางเดินรอบตึก ภายในตึกได้จัดเป็นห้องต่างๆ คือ เป็นห้องปาฐกถา 4 ห้อง จุนิสิตห้องละ 15 คน 1 ห้อง ห้องละ 30 คน 1 ห้อง และห้องละ 48 คน 2 ห้อง เป็นห้องอัฒจันทร์สำหรับฉายภาพ 1 ห้อง จุนิสิตได้ 118 คน เป็นห้องปฏิบัติการธรณีวิทยา 1 ห้อง จุนิสิตได้ 30 คน เป็นห้องทำการสำรวจจากภาพถ่าย 1 ห้อง ห้องประชุมอาจารย์ 1 ห้อง ห้องพักนิสิต 1 ห้อง ห้องอาจารย์ 2 ห้อง ห้องอาจารย์ผู้ช่วย 3 ห้อง ลักษณะโครงสร้างโดยทั่วไปคล้ายกับอาคารวิศวกรรมศาสตร์ 1 มาก โดยแบบที่ใช้เป็นแบบเดียวกัน ซึ่งผู้ออกแบบคือ พระเจริญวิศวกรรม

อาคารวิศวกรรมศาสตร์ 2

อาคารหลังนี้ได้เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2481 แล้วเสร็จเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2482 งบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้าง 97,000 บาท มีนายสหัท มหาคุณ เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง อาคารวิศวกรรมศาสตร์ 2 มีส่วนที่ แตกต่างจากอาคารวิศวกรรมศาสตร์ 1 ที่เห็นได้ชัด 3 ส่วนหลักคือ มีห้องใต้ดิน ซึ่งทางเข้าอยู่ที่ห้องใต้บันไดทางด้านซ้ายเมื่อมองจากด้านหน้าตึก ซึ่งปัจจุบันได้มีการนำเอาไม้ไผ่วางกั้นก่อนแล้ว นำเอาแผ่นไม้มาวางทับเพื่อปิดทางลง เนื่องมาจากว่าทางลงไปชั้นใต้ดินนี้เป็นเพียงทางลงธรรมดา ไม่มีประตูสำหรับปิดทางลง ดังนั้นจึงต้องทำการปิดเอาไว้เพื่อป้องกันอันตราย สำหรับตัวห้องใต้ดินนี้ปัจจุบันได้มีนํ้าขังลึกประมาณ 2.80 เมตร เมื่อวัดจากพื้นจนถึงคาน ชั้นที่ 1 นํ้าที่อยู่ที่ห้องใต้ดินนี้เป็นนํ้าที่ค่อนข้างใส เนื่องมาจากการตกตะกอนเป็นเวลานานจึงเห็นถึงพื้น จากการสำรวจได้พบว่าห้องใต้ดินนั้นมีบริเวณอยู่ตรงส่วนกลางของตัวอาคารเท่านั้น การที่จะสูบนํ้าออกจากชั้นใต้ดินนี้ เพื่อที่จะสำรวจได้อย่างเต็มที่อาจมีผล กระทบต่อตัวโครงสร้าง คือ อาจทำให้ตัวอาคารลอยตัวขึ้นเนื่องจากไม่มี นํ้าหนักของนํ้ากดทับ การลอยตัวของอาคารจะเกิดในส่วนของบริเวณที่ ทำการสูบนํ้าออกเท่านั้น ทำให้เกิดการแตกร้าวของอาคารได้ ส่วนพื้นของอาคารวิศวกรรมศาสตร์ 2 นี้ต่างจากพื้นของอาคารวิศวกรรมศาสตร์ 1 ตรงที่ก่อสร้างเป็นพื้นเนื้อเดียวโดยที่มีเส้นทองเหลืองเป็นระยะๆ เพื่อลดการ แตกร้าวเนื่องจากการหดตัวหรือขยายตัวเนื่องจากอุณหภูมิ ส่วนที่แตกต่างกัน ในส่วนสุดท้ายคือผนังภายนอกของอาคารวิศวกรรมศาสตร์ 2 ที่เป็นอิฐมีรอยยาแนวที่ไม่มีลักษณะนูนเหมือนกับอาคารวิศวกรรมศาสตร์ 1

ต่อมาใน พ.ศ. 2498 ได้ทำการต่ออาคารวิศวกรรมศาสตร์ 2 เพิ่มอีก 1 ชั้น เป็น 3 ชั้น ในส่วนของดาดฟ้าได้เปลี่ยนเป็นหลังคา โดยในสมัยนั้น ศ.อรุณ สรเทศน์ เป็นคณบดี โดยงบประมาณที่ใช้ในการต่อเติมอาคารประมาณ 1 ล้านบาท การต่อเติมดังกล่าวกระทำหลังจากที่ทำการต่อเติมอาคารวิศวกรรมศาสตร์ 1 เป็นเวลา 1 ปี ในระหว่าง พ.ศ. 2514 ได้ทำการสร้างทางเชื่อมระหว่างอาคารวิศวกรรมศาสตร์ 1 กับ 2 บริเวณด้านหลังของอาคารทั้งสอง เพื่อความสะดวกของนิสิตในการเปลี่ยนอาคารเรียน โดยใช้โครงสร้างของเหล็กกับคานคอนกรีตรูป I beam ซึ่งมีการใช้ Bracing เพื่อกันการสั่นของทางเชื่อมอีกด้วย

อาคารวิศวกรรมศาสตร์ 3

อาคารวิศวกรรมศาสตร์ 3 อยู่ระหว่างตึกคณะอักษรศาสตร์กับอาคารวิศวกรรมศาสตร์ 1 และ 2 ซึ่งที่ดิน ในช่วงก่อนหน้านั้นเป็นสนามหญ้า ได้ออกแบบให้เป็นอาคารคอนกรีตเสริม เหล็ก 3 ชั้น ประกอบไปด้วยห้องประชุมขนาด 500 คน และห้องสมุดขนาดใหญ่ ที่เหลือเป็นห้องเรียน ได้มีการวางผังและเริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2506 และสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2508 โดย ศาสตราจารย์อรุณ ชัยเสรี เป็นผู้คำนวณโครงสร้าง และ อาจารย์รำไพ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เป็นผู้ออกแบบ และมี ผู้รับเหมาคือ บริษัท สีลมก่อสร้าง ซึ่ง ในสมัยนั้นผู้จัดการของบริษัทคือ คุณเผอิญ ศรีภูธร

สำหรับการวางผัง อาจารย์เสถียร ชลาชีวะ และ อาจารย์อรุณ สรเทศน์ ได้ทำการวางผังด้วยกล้อง โดยใช้เวลาในการวางผังเป็นเวลา 2 วัน ฐานรากที่ใช้เป็นเสาเข็มไม้ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 12 นิ้ว ยาว 16 เมตร จำนวนทั้งสิ้น 1,200 ต้น ใช้ไม้มะค่า และทำการตอกเสาเข็มดังกล่าวด้วยปั้นจั่นโครงถักที่ทำด้วยไม้ ในสมัยนั้นไม่มีการ ทำการทดสอบดินหรือระดับนํ้าใต้ดินเลย แต่มีการใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2479 เป็นข้อกำหนดในการก่อสร้าง ซึ่งในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2479 ระบุไว้ว่าระดับนํ้าอยู่ที่ตํ่ากว่าผิว 1.5 เมตร ดังนั้นจึงทำการตอกเสาเข็มลงไปเป็นระยะ 2 เมตร เพื่อกันไม้ผุเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงความชื้นในเนื้อไม้ ใช้เวลาในการตอกเข็มทั้ง 1,200 ต้น ประมาณ 2 ปี การเทฐานรากนั้น ฐานรากจะกว้าง 2 ½ เมตร หนาประมาณ 60 เซนติเมตร ใช้โม่ผสมปูนจำนวน 4-5 โม่ แล้วเทฐานรากครั้งหนึ่งจึงจะเต็มแบบ ฐานรากหนึ่งหลุมใช้เวลาในการเทครึ่งวัน โดยปูนที่ใช้เป็นปูนตราช้าง และต้องวัดนํ้า ตลอดเวลา เพราะว่าอยู่ใต้ระดับ Water Table เสาเข็มที่ใช้นั้นได้มีการทดสอบการรับกำลังโดยมิสเตอร์หลิว ซึ่งเป็นช่างมาจากฮ่องกง ที่ศาสตราจารย์อรุณ ชัยเสรี ไปเชิญมาทดสอบ ปรากฏว่ารับเซฟโหลดได้ที่ประมาณ 5,000 กิโลกรัม ต่อต้น สำหรับห้องประชุม ซึ่งชั้น 3 ด้านบนออกแบบให้เป็นห้องสมุด ซึ่งมี Span ค่อนข้างกว้าง จึงมีการใช้คาน Pre-Stress จำนวน 8 ตัว ซึ่งผู้ออกแบบคานดังกล่าวคือ คุณธรรมนูญ นับว่าเป็นอาคารของประเทศไทยอันดับแรกๆ ที่ใช้คาน Pre-Stress ในการก่อสร้าง สำหรับตัวคาน Pre-Stress ใช้วิธีการหล่อที่โรงงานผลิต แล้วลำเลียงมาด้วยรถบรรทุกมาไว้ที่บริเวณข้างห้องประชุม จากนั้นทำการยกติดตั้ง ในสมัยนั้นยังไม่มีการใช้เครนในการยก ดังนั้นการติดตั้งคานดังกล่าว จึงใช้รอกยกหัวและท้าย โดยใช้รอก 4 ตัว ข้างละ 2 ตัว รอกสามารถรับนํ้าหนักได้ข้างละ 10 ตัน ดังนั้นรับได้ทั้งหมดประมาณ 20 ตัน คานดังกล่าวหนัก ไม่ถึง 20 ตัน แต่เหตุที่ใช้รอกข้างละ 2 ตัว เนื่องมาจากต้องการผ่อนแรงของคนติดตั้งเวลาสาวรอกขึ้น ในการยก ติดตั้งนี้สามารถยกคานหนึ่งตัวขึ้นไป บนยอดได้โดยใช้เวลา 1 วัน คือ ทำการสาวเชือกตั้งแต่เวลา 8.00 น. จนถึงเวลาประมาณ 15.00 น. การสาวรอกใช้คนครั้งละ 2-3 คน โดยจะมีผลัดเปลี่ยนกันเป็นทีมๆ ในส่วนของคานคอนกรีต เสริมเหล็กธรรมดานั้น กระบวนการในการทำงานนั้นจะทำโดยการที่ให้คนงานลำเลียงปูนแล้วทำการเทปูน ตั้งแต่เวลาเช้าจนถึง 3 ทุ่ม โดยทำงานต่อเนื่อง เพราะว่าการเทปูนจำเป็นจะต้องเป็นเนื้อเดียวกัน

อาคารวิศวกรรมศาสตร์ 3 ในปัจจุบัน
อาคารวิศวกรรมศาสตร์ 3 ในปัจจุบัน

ในการออกแบบอาคารวิศวกรรมศาสตร์ 3 นี้ ศ.อรุณ ชัยเสรี ได้ออกแบบตัวอาคารในแนวคิดที่ว่าเป็นอาคารประหยัดพลังงาน ดังนั้นความสูงระหว่างชั้นของอาคารจะสูงเป็นพิเศษ ผนังของตัวอาคารเป็นผนังสองชั้น ช่วยป้องกันความร้อนไม่ให้เข้ามาในตัวอาคาร ในส่วนของวงกบเป็นวงกบขนาดใหญ่หนาประมาณ 10 เซนติเมตร ซึ่งในปัจจุบันไม่สามารถหาวงกบแบบนี้ได้อีกแล้ว เนื่องจากอาคารวิศวกรรมศาสตร์ 3 เป็นอาคารที่มีขนาดใหญ่มาก จึงมีการแบ่งตัวอาคารออก 3 ส่วนด้วยกัน มีลักษณะเป็น 3 อาคารติดกัน การทำเช่นนี้เพื่อป้องกันอาคารแตกร้าว เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิทำให้อาคาร ยืดหดตัวไม่เท่ากัน การออกแบบในตอนแรกออกแบบเป็นอาคาร 3 ชั้น โดยออกแบบให้ส่วนของเพดานชั้นที่ 3 รับนํ้าหนักจรได้ 400 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร ออกแบบเอาไว้เพื่อใช้เป็นที่เก็บหนังสือของห้องสมุด

ต่อมาได้มีการต่อเติมเป็น 4 ชั้น โดยใช้ดาดฟ้าเป็นพื้นของชั้น 4 และมีหลังคาคลุม ซึ่งแต่เดิมก็มีหลังคาคลุม อยู่แล้ว ในการต่ออาคารวิศวกรรมศาสตร์ 3 เป็น 4 ชั้น ไม่ต้องกังวลในเรื่องของการรับนํ้าหนักโครงสร้าง เพราะได้มีการคำนวณนํ้าหนักจรของชั้น 4 ให้รับนํ้าหนักได้มากอยู่แล้ว ความสูงของชั้น 4 มีข้อจำกัด เนื่องจากจะออกแบบให้สูงมากไม่ได้เพราะจะทำให้ไม่เข้ากับตึกอักษรศาสตร์ข้างเคียง ในการต่อเติมนี้ได้มีการประมูลเมื่อ พ.ศ. 2531 ในราคา 18.5 ล้าน สัญญาที่ใช้คือสัญญาแบบ Lumsum ซึ่งพื้นมีอยู่แล้ว เป็นการยกหลังคาขึ้นไป โดยที่ใช้โครงหลังคาเดิม แต่เปลี่ยนกระเบื้องใหม่ ในการทำงานนั้นใช้แรงงานคนประมาณ 50-60 คน ทำงานประมาณ 8 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็น ในช่วงต่อเติมนี้ ข้างล่างชั้น 1 ถึง 3 ก็ยังใช้งานได้ตามปกติ โดยมีวิศวกรคุมงานก่อสร้างทั้งจากจุฬาฯ และผู้รับเหมา ส่วนลิฟต์ทั้ง 2 ตัวของอาคารวิศวฯ 3 นั้น ได้ติดตั้งขึ้นภายหลัง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คณาจารย์และนิสิต ลิฟต์ตัวแรกติดตั้งบริเวณปีกซ้ายของอาคารเมื่อ พ.ศ. 2538 ในสมัย รศ. ดร.ณรงค์ อยู่ถนอม เป็นคณบดี ส่วน ตัวที่ 2 ติดตั้งบริเวณปีกขวาของอาคาร (บริเวณทางออกสู่สวนรวมใจ) ติดตั้งเมื่อ พ.ศ. 2548 ในสมัย ศ. ดร.ดิเรก ลาวัณย์ศิริ เป็นคณบดี

อาคารวิศวกรรมศาสตร์ 4 (อาคารเจริญวิศวกรรม)

ตึกวิศวฯ 4 (อาคารเจริญวิศวกรรม)

จากการที่มีนิสิตเพิ่มขึ้นในแต่ละ ปีการศึกษา และจุฬาฯ ได้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการวางแผนการพัฒนาการศึกษา จากการถ่ายทอดความรู้ทางด้านการเรียนการสอนเพียงอย่างเดียว มาเป็นการถ่ายทอดความรู้ทางการเรียนการสอนและวิจัยในองค์ความรู้ใหม่ ทำให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ต้องมีการปรับปรุงและเพิ่มสถานที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์จึงมีดำริก่อสร้างอาคารเรียนรวมและวิจัย หลังที่ 4 (อาคารเจริญวิศวกรรม) เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ศาสตราจารย์พระเจริญวิศวกรรม อดีตคณบดี ผู้ที่ได้ร่วมก่อตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ และดำรงตำแหน่งคณบดียาวนานถึง 32 ปี อาคารเรียนและวิจัย หลังที่ 4 ก่อสร้างด้วยงบประมาณ 357 ล้านบาท เป็นลักษณะอาคาร 20 ชั้น มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 24,500 ตารางเมตร มีพื้นที่ใช้สอยชั้นละ 1,225 ตารางเมตร ซึ่งประกอบด้วย

  • ห้องประชุมและอบรมสัมมนา
  • ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์
  • ห้องปฏิบัติการพื้นฐาน
  • ห้องปฏิบัติการวิจัยทางวิชาการและอเนกประสงค์
  • ห้องกิจกรรมและนิทรรศการนิสิต
  • สำนักงานของภาควิชาต่างๆ สถานที่ก่อสร้างบริเวณตึกภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ และตึกอนุสาสน์ยันตรกรรมเดิม

อาคารเรียนรวมและวิจัย (อาคารวิศวฯ 100 ปี)

อาคารเรียนรวมและวิจัย (อาคารวิศวฯ 100 ปี)

ใน พ.ศ. 2556 เป็นปีที่คณะวิศวฯ จุฬาฯ ก่อตั้งครบ 100 ปี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาคณะได้พัฒนาขึ้นมาตามลำดับ กอปรกับมีนิสิตเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ทำให้เกิดปัญหาพื้นที่ไม่เพียงพอแก่ความต้องการ ดังนั้น ทางคณะวิศวฯ เห็นสมควรว่าควรขยายพื้นที่ให้เพียงพอและเหมาะสมแก่ความจำเป็นดังกล่าว จึงเสนอให้มีการก่อสร้างอาคารเรียนรวมและวิจัย 100 ปี คณะวิศวฯ จุฬาฯ แต่ด้วยข้อจำกัดด้านพื้นที่จึงต้องรื้อถอนอาคารเดิม 3 หลัง ประกอบด้วย ตึก Work Shop หรือตึกกิจการนิสิต ห้องนํ้าสามแสน และตึกโคลัมโบ

วัตถุประสงค์

อาคารวิศวฯ 100 ปี เป็นอาคารเรียนรวมและวิจัย สูง 12 ชั้น พื้นที่ ใช้งานประมาณ 20,000 ตารางเมตร มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นห้องเรียนรวมขนาดใหญ่ และพื้นที่วิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรม เพื่อผลิตองค์ความรู้ และนวัตกรรมทางด้านวิศวกรรมที่อุตสาหกรรมของประเทศสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง อันจะเป็นพื้นฐาน ต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศชาติ นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งของพื้นที่อาคารได้กำหนดไว้สำหรับกิจกรรม เสริมหลักสูตรของนิสิต และเป็นที่พบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างนิสิตเก่ากับนิสิตปัจจุบัน 

อาคารวิศวฯ 100 ปี จะเป็นอนุสรณ์ สำหรับการที่จะก้าวเข้าสู่ศตวรรษใหม่ ในวันที่ 1 มิถุนายน 2556 ซึ่งเป็น วันคล้ายวันสถาปนาครบ 100 ปี ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หลักการ

อาคารวิศวฯ 100 ปี เป็นอาคารตามแผนแม่บทการใช้พื้นที่การเรียน การสอนและการวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเพิ่มพื้นที่การเรียนการสอนและการวิจัยให้แก่คณะวิศวกรรมศาสตร์ตามสัดส่วนของจำนวนคณาจารย์ บุคลากร นิสิต และภารกิจของคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยมีหลักการในการใช้พื้นที่ 3 ส่วนหลัก คือ

  1. ส่วนขยายงานวิจัยด้านวิศวกรรมศาสตร์ พื้นที่ประมาณ 8,000 ตารางเมตร (จำนวน 5 ชั้น) จะถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สำหรับการวิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรม โดยอาศัยบุคลากรจากภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญ ในบริบทที่แตกต่างเข้ามาทำงานร่วมกับ บุคลากรของคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อแก้ปัญหาให้แก่ภาคอุตสาหกรรม พร้อมกับการสร้างองค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ อันจะเป็นส่วนสำคัญยิ่งที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป
  2. ส่วนขยายการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ ปัจจุบันคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มี การเรียนการสอนระดับปริญญาบัณฑิต 18 หลักสูตร ปริญญามหาบัณฑิต 19 หลักสูตร และปริญญาดุษฎีบัณฑิต 11 หลักสูตร ซึ่งเป็นหลักสูตรพื้นฐานและประยุกต์ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ การเพิ่มพื้นที่ในส่วนของการศึกษาทำให้คณะวิศวกรรมศาสตร์มีความพร้อมที่จะเริ่มหลักสูตรใหม่ที่สอดคล้องกับความจำเป็นเร่งด่วนของประเทศ และพื้นที่สำหรับห้องเรียนสมัยใหม่ (Work Place)
  3. ส่วนเชื่อมต่อระหว่างนิสิตเก่ากับนิสิตปัจจุบัน พื้นที่ชั้น 3 ประมาณ 1,500 ตารางเมตร ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สำหรับกิจกรรมเสริมหลักสูตรของนิสิต สถานที่ทำงานของกรรมการนิสิต ในขณะที่พื้นที่ชั้น 12 ถูกจัดให้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์สำหรับบุคลากร และ สถานที่นัดพบของนิสิตเก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์รุ่นต่างๆ โดยสามารถประสานงานหรือขอรับการสนับสนุนจากนิสิตปัจจุบัน ผ่านทางกรรมการนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่ทำงานอยู่ที่ชั้น 3 ในการร่วมกันสร้างสรรค์กิจกรรม