ยุคบุกเบิก
วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระ มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนเป็นจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย โรงเรียนยันตรศึกษาจึงเปลี่ยนมาเป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งแต่นั้นมา โดยมี พระยานิพัทธ์กุลพงศ์ ดำรงตำแหน่งเป็นคณบดีคนแรก ได้จัดหลักสูตรการเรียนให้สูงขึ้นตามกาลสมัย รับเฉพาะนักเรียนที่ สำเร็จชั้นมัธยมปีที่ 8 ของกระทรวงธรรมการ และขยายเวลา เรียนออกเป็น 4 ปี ย้ายสถานที่เล่าเรียนจาก วังใหม่ไปเรียนที่ ตึกบัญชาการหรือเทวาลัย (ตึกเรียนของคณะอักษรศาสตร์ในปัจจุบัน) ก่อนที่จะย้ายมาเรียนที่ตึกวิศวกรรมศาสตร์ 1 (ตึกแดงหรือปราสาทแดง) ซึ่งเป็นตึกของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ในปัจจุบัน เมื่อ พ.ศ. 2478 และได้จัดหาอุปกรณ์การสอน เพิ่มเติมขึ้นตามความจำเป็น และสร้างโรงงาน เครื่องกลึง เครื่องหล่อ เครื่องช่างไม้ เครื่องไฟฟ้า หอวิทยาศาสตร์ และอื่นๆ อีกเป็นลำดับเรื่อยมา ทำให้ไม่จำเป็นต้องส่งนักเรียนออกไปฝึกหัด นอกโรงเรียนเช่น แต่ก่อนอีก
พระยานิพัทธ์กุลพงศ์ ได้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะวิศว-กรรมศาสตร์มาจนถึงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2464 จึงย้ายไปรับ ราชการกระทรวงทหารเรือ ทางราชการจึงให้ พระยาวิทยา ปรีชามาตย์ ซึ่งเวลานั้นเป็นคณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ทำหน้าที่ รักษาการแทนคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์อีกหน้าที่หนึ่ง ต่อมาวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2472 พระยาวิทยา ปรีชามาตย์ ได้ย้ายไปรับหน้าที่ปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ และรักษาการหน้าที่ผู้บัญชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระเจริญวิศวกรรม จึงเข้ารับหน้าที่คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ตั้งแต่นั้นมาการเรียนก็ได้จัดให้เป็นระเบียบยิ่งขึ้น โดยในช่วง พ.ศ. 2474-2475 ได้มีการแยกการเรียนการสอนออกเป็นแผนก 3 แผนก คือ วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมไฟฟ้า และวิศวกรรมเครื่องกล
ต่อมาใน พ.ศ. 2476 เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงธรรมการ เห็นสมควรว่าถึงเวลาที่จะจัดให้การ เรียนวิชาวิศวกรรมศาสตร์สูงขึ้นถึงชั้นปริญญา จึงได้เตรียมการ ลงมือแก้ไขเพิ่มเติมอุปกรณ์ การสอน โรงงาน และอาจารย์ ให้ เหมาะสมกับวิทยฐานะ และในวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2478 ก็ได้มีนิสิตวิศวกรรมศาสตร์เข้ารับปริญญาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตเป็นชุดแรก พร้อมๆ กับเปิดการศึกษาแผนกวิศวกรรม ช่างอากาศขึ้น ด้วยความร่วมมือจากกองทัพอากาศ โดยกระทรวง กลาโหมจัดส่งนายทหารฝ่ายเทคนิคช่างอากาศมาช่วยสอนและ ใช้โรงงานของทหารอากาศบางซื่อและดอนเมืองเป็นที่ฝึกงาน
พ.ศ. 2481 ทางมหาวิทยาลัยได้จัดให้มีโรงเรียน เตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้น โดยรับผู้ที่สำเร็จ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ของกระทรวงธรรมการเข้าเรียนวิชาเตรียม วิศวกรรมศาสตร์ 2 ปี กล่าวคือ ตั้งแต่ พ.ศ. 2483 ผู้ที่จะเข้าศึกษาในคณะวิศวกรรมศาสตร์ชั้นปีที่ 1 จะต้องเป็น นักเรียนที่สำเร็จมาจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาทั้งสิ้น ซึ่งโรงเรียนนี้ได้ผลิตนักเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์เป็นรุ่นแรกจำนวน 99 คน ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2489 กระทรวงศึกษาธิการได้เปิดให้จัดการศึกษาชั้นเตรียมอุดมศึกษา เพิ่มขึ้นตามโรงเรียนของกระทรวงอีกหลายแห่งและอนุญาตให้โรงเรียนราษฎร์ที่เทียบเท่าวิทยฐานะเปิดการสอนถึงขั้นเตรียมอุดมศึกษาเพิ่ม ขึ้นจากมัธยม 6 อีก 2 ปีด้วย ดังนั้นตั้งแต่ พ.ศ. 2491 เป็นต้นมา คณะวิศวกรรมศาสตร์จึงรับสมัครผู้ที่สำเร็จจากโรงเรียน เตรียมอุดม ศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการหรือเทียบเท่าทุกแห่ง โดยผู้ที่จะเข้า เรียนจะต้องผ่านการสอบคัดเลือกของมหาวิทยาลัยเสียก่อนและได้ ดำเนินการในระบบ ดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน