หลักสูตรวิศวกรรมชีวเวช มีคำขวัญว่า “Engineer Your Life” หรือ “วิศวกรที่ซ่อมสร้างร่างกายมนุษย์”
หลักสูตรสหสาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวช เริ่มเปิดสอนตั้งแต่ปีการศึกษา 2549 ภายใต้ความดูแลรับผิดชอบของบัณฑิตวิทยาลัย ต่อมาในปีการศึกษา 2554 ด้วยความสำคัญของหลักสูตรที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถือว่าเป็นศาสตร์ในอนาคต คณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยภารกิจบูรณาการการศึกษา ฝ่ายวิชาการได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบการบริหารหลักสูตร ภายใต้ปรัชญาหลักคือการเป็นกำลังสำคัญในการผลิตบัณฑิตที่สามารถสร้างสรรค์งานวิจัย คิดค้นนวัตกรรม และเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ให้แก่ประเทศ อันจะช่วยเพิ่มศักยภาพทางการแพทย์ ลดการพึ่งพาต่างชาติที่เป็นผู้ผลิตและเป็นเจ้าของเทคโนโลยี ตลอดจนเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันอุตสาหกรรมด้านเครื่องมือแพทย์ของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติมากขึ้น สอดคล้องกับปรัชญาการพัฒนาประเทศแบบบูรณาการและยั่งยืน
หลักสูตรสหสาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวช เปิดสอน 3 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต และวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สหสาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวช โดยที่วิศวกรรมชีวเวชเป็นการนำความรู้และวิทยาการทางวิทยาศาสตร์กายภาพและวิศวกรรมศาสตร์สาขาต่างๆ อาทิเช่น วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมเคมี วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมนิวเคลียร์ วัสดุศาสตร์ มาประยุกต์ใช้แก้ปัญหา และพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ ทำให้เกิดงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วย เพิ่มศักยภาพของแพทย์ในการตรวจวินิจฉัย รักษา และฟื้นฟูสภาพผู้ป่วย ได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น การจัดการเรียนการสอนรวมทั้งการบริหารงานหลักสูตร นอกจากอาจารย์ประจำหลักสูตรแล้ว ยังได้รับความอนุเคราะห์/ความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทั้งคณาจารย์ในภาควิชาต่างๆ ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ตลอดจนคณาจารย์จากคณะอื่นในมหาวิทยาลัย ดังนี้
ความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นภายในมหาวิทยาลัย : ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะสัตวแพทย- ศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์ วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี คณะวิทยาศาสตร์ โดยให้บริการการสอนและ ทำวิจัยร่วมกัน
ความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นภายนอกมหาวิทยาลัย : ได้แก่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยให้บริการดูงาน ใช้สถานที่และเครื่องมือ
ปัจจุบันหลักสูตรร่วมกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างดำเนินการจัดตั้งศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวเวช รวมทั้งพัฒนา ต่อยอดความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้หลักสูตรเกิดความเข้มแข็ง เพิ่มศักยภาพการผลิตบัณฑิตและงานวิจัยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สถานที่ติดต่อ
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท
แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทรศัพท์ +66 2218 6337
เว็บไซต์ www.eng.chula.ac.th/th/departments1