บทสัมภาษณ์หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม

ผศ. ดร.ฐิติศักดิ์ บุญปราโมทย์

ผศ. ดร.ฐิติศักดิ์ บุญปราโมทย์

หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม

สำหรับที่มาและความสำคัญของหลักสูตร ต้องยอมรับว่าหลักสูตรวิศวกรรมเหมืองแร่ เป็นหลักสูตรเก่าแก่หลักสูตรหนึ่งของประเทศไทย เราเริ่มก่อตั้งภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่ซึ่งตอนนั้นยังไม่เรียกเป็นภาควิชาตั้งแต่ พ.ศ. 2481 ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับสาขาวิศวกรรมหลัก ๆ ของจุฬาฯ

โดยภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่เป็นภาควิชาซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับจัดหาวัตถุดิบ โดยเฉพาะเรื่องแร่ธาตุต่าง ๆ ให้แก่ประเทศ ถ้าย้อนกลับไปในอดีต ประเทศไทยเราเคยเป็นประเทศที่ส่งออกวัตถุดิบประเภทแร่โดยเฉพาะแร่ดีบุก นำเข้ารายได้ให้กับประเทศเป็นระยะเวลานาน ซึ่งในอดีตจะขึ้นอยู่กับความสามารถที่จะเข้ามาทำการผลิตแร่ภายในประเทศ ในยุคนั้นเป็นชาวอังกฤษ

ต่อมารัฐบาลไทยเห็นว่าเราควรจะมีความสามารถในการพัฒนาแหล่งแร่ของตัวเองขึ้นมาให้เกิดประโยชน์ ทำให้เกิดภาควิชานี้เกิดขึ้นมา และเราก็สามารถผลิตวิศวกร เหมืองแร่เพื่อออกไปรับใช้สังคมในการผลิต แร่ในสมัยนั้นก็เป็นแร่ดีบุกเป็นหลัก มีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไป สมัยหลังสงครามโลกก็มีการหยุดภาควิชาไปชั่วขณะและ กลับมาเปิดใหม่ จนกระทั่งใน พ.ศ. 2526 ประเทศไทยมีการสำรวจกิจการทางด้านปิโตรเลียม มีการเปิดให้ต่างชาติเข้ามาสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย ทำให้เราอยากที่จะทำเอง ความสามารถในการพึ่งพาตนเองเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศ เราจึงได้พัฒนาหลักสูตรที่เรียกว่าหลักสูตรวิศวกรรมปิโตรเลียมขึ้นมาใน พ.ศ. 2526 และได้มีการพัฒนาตัวหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดทางด้านวิศวกรรมเหมืองแร่เองได้ มีการพัฒนาต่อยอดโดยรวมเอาส่วนที่เรียกว่าการนำแร่หรือวัสดุที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเราเรียกว่าการรีไซเคิล และเราก็เปลี่ยนชื่อหลักสูตรเป็นวิศวกรรมทรัพยากรธรณี ได้ดูแลทั้งส่วนที่เป็นแหล่งแร่เดิมและรวมกับการรีไซเคิล ซึ่งได้ทั้งเทคโนโลยีและความสัมพันธ์ ที่ดีกับหลักสูตรต่าง ๆ ในประเทศญี่ปุ่นและประเทศเยอรมนี ทำให้เราค่อนข้างจะมีความใกล้ชิดกับประเทศเหล่านี้ซึ่งมีทั้งแหล่งแร่และมีการรีไซเคิลด้วย

สำหรับวิศวกรรมปิโตรเลียม ได้มีการพัฒนาต่อยอดไปเรื่อย ๆ โดยมีการเปิดรายวิชาในระดับปริญญาโทของหลักสูตรรวมทั้ง 2 สาขา และล่าสุดกำลังจะเปิดระดับปริญญาเอกในเร็ว ๆ นี้ จริง ๆ แล้วหลักสูตรทั้งหมดที่เราเปิดขึ้นมาเพื่อที่จะเตรียมวิศวกรที่สามารถพัฒนาแหล่งทรัพยากรของเราเองให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติ ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมต้นนํ้า วิศวกรรมหลาย ๆ สาขาอาจจะทำเพื่อตอบสนองสังคมในหลาย ๆ อุตสาหกรรม แต่วิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียมเป็นอุตสาหกรรมต้นนํ้า ซึ่งเราจำเป็นจะต้องมีวิศวกรที่ถูกฝึกมาโดยเฉพาะที่จะทำงานในสาขานั้น ๆ ถ้าเราต้องการจะเป็นวิศวกรเหมืองแร่ นั่นคือทางเลือกที่หนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันเราเรียกว่าวิศวกรทรัพยากรธรณี แต่ในใบ กว. ยังเป็นวิศวกรรมเหมืองแร่อยู่ หรืออยากจะเป็นวิศวกรปิโตรเลียม ก็สามารถมาเรียนได้ที่จุฬาฯ โดยเฉพาะสาขาปิโตรเลียม เข้าใจว่าจุฬาฯ น่าจะเป็นที่แรกหรือที่เดียวที่ยังเปิดและสอนทางด้านปิโตรเลียมโดยตรง ส่วนทางด้านทรัพยากรธรณีหรือเหมืองแร่เปิดมานานแล้ว แต่เราก็ยังเป็น 1 ใน 4 ของสถาบันที่สอนเกี่ยวกับเหมืองแร่ในประเทศไทย

ในปีหนึ่งเรารับนิสิตสาขาวิศวกรรมทรัพยากรธรณีประมาณ 20 คน และล่าสุดเรารับสาขาวิศวกรรมปิโตรเลียมระดับปริญญาตรีเพียง 10 คนเท่านั้น เพราะฉะนั้นค่อนข้าง จะมีวิศวกรจำกัดเพราะตลาดแรงงานค่อนข้างจำกัด ทำให้เราค่อนข้างจะโดดเด่นกว่าวิศวกรรมสาขาอื่น เพราะถ้าจบไป ถ้าเขาต้องการเรา ต้องยอมรับตรง ๆ ว่าจบไปคู่แข่งน้อยแน่นอน นั่นคือจุดเด่นของเรา

สำหรับสิ่งที่เราภูมิใจคือเรื่องของนิสิตเก่าของเรา หลาย ๆ ท่านที่จบสาขาวิศวกรรมเหมืองแร่ หรือจบ ในสาขาวิศวกรรมปิโตรเลียมก็ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน มีทั้งเป็นผู้บริหารระดับสูงในองค์กรของภาครัฐ เช่น เป็นอธิบดีกรม หรือเป็น CEO ของบริษัท ในระดับชาติซึ่งเป็นตัวแทนของประเทศไทย นั่นคือ นิสิตเก่าทางด้านปิโตรเลียม ซึ่งทำให้เรารู้สึกมีความ ภาคภูมิใจในความสำเร็จหรือในความก้าวหน้าของลูกศิษย์ของเราที่สามารถช่วยกันพัฒนาประเทศและก้าวไปเป็น ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรต่าง ๆ

เป้าหมายของหลักสูตรที่สำคัญคือการที่ต้องการ ให้คนไทยพึ่งพาตัวเองได้ อย่าลืมว่าการแข่งขันของประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เราจำเป็นต้องพึ่งพาทรัพยากรเพราะทรัพยากรเป็นปัจจัยสำคัญของ การผลิต ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ พลังงานขั้นต้น ถ้าเราสามารถมีวัตถุดิบและพลังงานของเราภายในประเทศ เพื่อใช้เอง จะทำให้ต้นทุนต่าง ๆ มีราคาที่แข่งขันได้กับต่างประเทศ และน่าจะเป็นจุดแข็งของประเทศไทย ต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมปิโตรเลียมที่เรามีความเจริญก้าวหน้าหรืออุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่นำเอาปิโตรเลียม ที่เรามีไปพัฒนาต่อยอดและไปแข่งขันกับต่างประเทศ เหตุผลที่ไปได้ดีเพราะเรามีทรัพยากรของเราเอง หรือ แร่ธาตุต่าง ๆ ที่เราใช้ในวัสดุก่อสร้างก็ตาม หรือแม้แต่วัตถุทางการเกษตรซึ่งจะถูกนำไปทำปุ๋ยในอนาคตก็มาจากวัตถุดิบภายในประเทศ ถ้าเราไม่มีวัตถุดิบของเราเอง เราต้องพึ่งพาจากการนำเข้า ผมเชื่อว่าความสามารถ ในการแข่งขันของเราก็จะลดลงไป ในขณะเดียวกัน เราก็จะเสียโอกาสในการใช้ทรัพยากรในประเทศเราให้เกิดประโยชน์กับคนไทย ถ้าเราทำเองไม่ได้แน่นอนว่าต่างชาติจะเข้ามาเหมือนในอดีตเพื่อแสวงหาประโยชน์ อาจจะ ขอสัมปทานขอการพัฒนา ถ้าเราไม่ได้ผลิตวิศวกรเพื่อ ไปตอบรับอุตสาหกรรมเหล่านี้ก็จะทำให้เราต้องพึ่งพาต่างชาติตลอดเวลา

วิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม

เป้าหมายของภาควิชาก็คือต้องการจะผลิตวิศวกร ซึ่งจะทำให้คนไทยมีอิสรภาพในการพัฒนาแหล่งทรัพยากรของตัวเองเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศไทยและ มีความสามารถในการพึ่งพาตัวเองได้ ซึ่งให้ความสนใจกับการนำเข้า ในอนาคต 10 ปีข้างหน้าผมเชื่อว่าเทคโนโลยีหลาย ๆ อย่างมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทรัพยากร เนื่องจากการพัฒนาทรัพยากรส่วนใหญ่ก็มีความเสี่ยง เราคงต้องใช้ IoT, Big Data, Sensor ต่าง ๆ ที่จะนำมาพัฒนาเพื่อลดความเสี่ยงในการสำรวจและผลิตต่าง ๆ ผมเชื่อว่าเทคโนโลยีที่มีการกล่าวถึงที่มีการใช้ในปัจจุบันนี้ก็จะถูกนำมาพัฒนาต่อยอดเพื่อลดต้นทุนและลดความเสี่ยง และแน่นอนในการเรียนการสอนก็ต้องมีการ Apply และประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ต่าง ๆ เหล่านี้อยู่ตลอดเวลา ผมเชื่อว่าในอนาคตก็จะมี การเรียนการสอนเกี่ยวกับการใช้ Sensor ในเรื่องของการทำ Application ต่าง ๆ ที่เกิดจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้

สำหรับคำขวัญของภาควิชา ผมคิดว่าสโลแกนของเราก็คือ จัดหาวัตถุดิบและพลังงานขั้นต้นจากแหล่งทรัพยากรภายในประเทศ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทย นี่คือหัวใจของเรา นี่คือความจำเป็นที่เราจะต้องมีสาขาวิชาวิศวกรรมทรัพยากรธรณีและวิศวกรรมปิโตรเลียมขึ้น ผลิตโดยคนไทยเพื่อคนไทย