บทสัมภาษณ์หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโลหการ

รศ. ดร.เอกสิทธิ์ นิสารัตนพร

รศ. ดร.เอกสิทธิ์ นิสารัตนพร

หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโลหการ

ภาควิชาวิศวกรรมโลหการ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2517 จัดเป็นภาควิชาที่มีการเรียน การสอนทางด้านโลหการแห่งแรกของประเทศไทย สาเหตุของการก่อตั้งภาควิชา มาจากในช่วงนั้นอุตสาหกรรมทางด้านโลหะและวัสดุได้เจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมาก และ มีการขยายกิจการมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ยังขาดแคลนบุคลากรหรือวิศวกรที่ทำการสอนและทำวิจัยทางด้านนี้จำนวนมาก ดังนั้นทางทบวงมหาวิทยาลัยจึงได้อนุมัติให้จัดตั้งภาควิชานี้ขึ้น เพื่อทำการสอนให้แก่นิสิตและผลิตบัณฑิตทางด้านวิศวกรรมโลหการ

อัตลักษณ์ของศาสตร์ทางด้านโลหะและวัสดุ จัดเป็นศาสตร์ที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งเพราะเป็นรากฐานในการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่นำมาใช้ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีการสื่อสาร การขนส่ง อากาศยาน ตลอดจนทางด้านอุตสาหกรรมหลักต่าง ๆ ของประเทศ นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีทางด้านโลหะและวัสดุ ยังต้องตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสมและคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ และสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้ทางด้านความปลอดภัย ไม่เป็นภาระต่อสังคม รวมถึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ตามที่ทราบดีในปัจจุบัน เทคโนโลยีหลาย ๆ ด้าน รวมถึงด้านวัสดุได้มีการพัฒนาและแข่งขันกันอย่างมาก ดังนั้นทางภาควิชาจึงได้เล็งเห็นประเด็นนี้ พร้อมทั้งมีศักยภาพที่จะสอนในด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยเน้นตั้งแต่ตัวเนื้อวัสดุจนถึงพื้นผิวของวัสดุโลหะ เช่น ในเรื่องของเนื้อวัสดุนั้นเราได้เน้นถึงเรื่องของผลิตภัณฑ์โลหะโฟม (Metal Foam) ซูเปอร์อัลลอย (Super Alloy) โลหะที่ใช้เกี่ยวกับทางการแพทย์ ไปจนถึงรัตนโลหะ (Metallic Glass) ซึ่งเป็นโลหะที่มีคุณสมบัติเหมือนแก้ว นอกจากนี้ เทคโนโลยีทางด้านพื้นผิว การเคลือบผิวต่าง ๆ ภาควิชาฯ มีความพร้อมทั้งบุคลากรและอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่กล่าวมา

นอกจากนี้ จุดเด่นของภาควิชาฯ คือเน้นการเรียน การสอนทางด้านโลหะเป็นหลัก ทำให้นิสิตสามารถประกอบอาชีพวิศวกรรมทั้งทางด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูง สามารถสร้างนวัตกรรมที่สร้างประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไปในอนาคตได้เป็นอย่างดี

ความภาคภูมิใจของภาควิชาวิศวกรรมโลหการ เรามองออกเป็น 2 ด้าน คือ ในด้านการผลิตบัณฑิต และด้านผลงานวิจัย ด้านการผลิตบัณฑิตนั้น ทางภาควิชาได้ผลิตบัณฑิตที่ตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรม โดยบัณฑิตที่จบออกไปมีความก้าวหน้าทางด้านวิชาชีพจนเป็นผู้นำในระดับองค์กรทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน และยังมีชื่อเสียง ในระดับชาติและนานาชาติอีกด้วย นอกจากนี้บัณฑิต หลายท่านที่จบออกไปแล้วยังได้ไปเป็นนักวิชาการในมหาวิทยาลัยอื่น ทำให้ศาสตร์ทางด้านโลหะและวัสดุนี้ได้มีการแพร่หลายและเจริญก้าวหน้าขึ้น อันนำไปสร้างและพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต ในด้านผลงานวิจัย ซึ่งผลงานวิจัยหลายด้านสามารถเอาไปใช้ผลิตได้จริงในเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นจุดเด่นอย่างมาก นอกจากจะทำชื่อเสียงในระดับนานาชาติแล้ว หลายผลิตภัณฑ์เราได้นำมาใช้งานจริง รวมถึงผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในการช่วยเหลือสังคม

ในด้านการบริการสังคม ทางภาควิชาได้นำผลงานวิจัย ที่สร้างขึ้นและทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเหลือสังคม ในเรื่องของผู้ป่วยคือกระดูกไทเทเนียม ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติได้

ในอนาคตข้างหน้า ภาควิชาฯ มองเห็นว่าศาสตร์ทาง ด้านโลหะและวัสดุนี้จะมีการพัฒนาก้าวหน้าอย่างเห็นได้ชัดมากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นศาสตร์ทางด้านการพัฒนาให้วัสดุมีขนาดเล็กลง สามารถเอาไปใช้ในร่างกายของมนุษย์ได้มากขึ้น เอาไปแทนที่ชิ้นส่วนต่าง ๆ ในร่างกายของมนุษย์ หรือ แม้กระทั่งเอาไปใช้ในชิ้นส่วนที่เป็นผลิตภัณฑ์เล็ก ๆ ที่เป็นเทคโนโลยีทางด้านการสื่อสารและการทำเกี่ยวกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เหล่านี้ เพราะฉะนั้นศาสตร์ทางด้านนี้จะมีการค้นคว้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก และภาควิชาเราเองก็มีการพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ซึ่งปัจจุบันนี้ภาควิชาได้มีการแบ่งหัวข้อกลุ่มวิชาออกเป็นด้าน Advanced Material และ Advanced Processing ซึ่งจะทำให้นิสิตสามารถเลือกเรียนรายวิชาที่เกี่ยวกับวัสดุที่ลํ้าสมัยและเทคโนโลยีที่ลํ้าหน้าได้อย่างดี