บทสัมภาษณ์หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธา

ศ. ดร.ธีรพงศ์ เสนจันทร์ฒิไชย

หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธา

ภาควิชาวิศวกรรมโยธา จัดเป็นสาขาแรกของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ดังนั้นภาควิชาจึงมีประวัติศาสตร์อันยาวนานในการสร้างวิศวกรให้แก่ประเทศ เนื่องจากเป็นศาสตร์ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ตั้งแต่การสร้างที่อยู่อาศัย หรือการสร้างถนนหนทาง ต่อมาเมื่อประเทศหรือเมืองมีการพัฒนาขึ้น ก็มีการสร้างอาคารหรือสาธารณูปโภคต่างๆเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความเจริญของบ้านเมือง เพราะฉะนั้นความเข้มแข็งของศาสตร์ ทางด้านวิศวกรรมโยธา นับเป็นความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ

สาขาวิศวกรรมโยธา หากดูจากรหัสภาควิชาจะเห็นว่าเป็นสาขาแรก ๆ ของคณะ เพราะฉะนั้นภาควิชาของเราจึงมีส่วนสำคัญในการสร้างวิศวกรให้แก่ประเทศ ที่ผ่านมา นับว่าภาควิชาโชคดี เพราะมีทั้งคณาจารย์ที่ดี และโครงสร้างพื้นฐานที่ดีในการรองรับ เพื่อที่จะสร้างบัณฑิตวิศวกรที่มีคุณภาพ อีกอย่างหนึ่งที่อยากจะฝากให้แก่นิสิตหรือนักเรียนที่สนใจจะเรียนทางด้านนี้คือ ในการทำงานด้านวิศวกรรมโยธา เราสามารถภูมิใจกับผลงานที่เราสร้างได้ เช่น เมื่อเราเห็นสะพาน อาคาร หรือเขื่อน เราสามารถภูมิใจถ้าเราได้มีส่วนร่วมในการออกแบบหรือก่อสร้าง

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทางภาควิชาได้สร้างวิศวกรที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ เราจึงมีรุ่นพี่หลายคนที่เป็นิสิตเก่าของภาควิชา ได้เป็นผู้บริหารระดับสูงและวิศวกรในองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งได้สร้างชื่อเสียงของภาควิชาให้ได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ

สำหรับเป้าหมายของหลักสูตร หลัก ๆ คือเน้นการพัฒนาด้านงานวิจัยและนวัตกรรมให้เข้มแข็ง รวมทั้งพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัย ตัวอย่างเช่น ในระดับบัณฑิตศึกษา ภาควิชาได้มีการพัฒนาหลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ โดยในปัจจุบันได้รับนักศึกษาชาวญี่ปุ่นจากมหาวิทยาลัยฮอกไกโด เข้ามาร่วมเรียนและทำวิจัยในสาขาวิศวกรรมขนส่ง และการเปิดวิศวกรรมระบบรางร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และมหาวิทยาลัยอาเคนจากประเทศเยอรมนี ในส่วนของหลักสูตรปริญญาตรี ภาควิชาได้ปรับปรุงการเรียนการสอนให้เข้าระบบ Outcome Based เพื่อรองรับการพัฒนาหลักสูตรในอนาคต โดยในปัจจุบันหลักสูตรของภาควิชาได้การรับรอง TABEE (Thailand Accre- ditation Body for Engineering Education) จากสภาวิศวกร ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์สำหรับนิสิตของเราในอนาคต หากนิสิตต้องการไปทำงานต่างประเทศก็จะสามารถไปทำงานได้สะดวกขึ้น

สำหรับอนาคตใน 10 ปีข้างหน้าคงมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเป็นธรรมชาติ งานด้านวิศวกรรมโยธาก็คงมีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน เช่น ในอดีตก็มีรูปแบบการก่อสร้างแบบหนึ่ง ในปัจจุบันก็ได้มีการนำเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยมาช่วยในการก่อสร้างให้รวดเร็วและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งในอนาคตอันใกล้อาจมีการพัฒนาเมืองในรูปแบบที่เรียกว่า “Smart City” มีการนำเซนเซอร์หรือเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วย หรือในปัจจุบันเริ่มมีการนำระบบ BIM (Building Information Modeling) เข้ามาช่วยในการก่อสร้าง และในอนาคตคงมีการใช้ระบบนี้มากยิ่งขึ้น ในส่วนของภาควิชาเอง เราจำเป็นต้องสอนนิสิตให้สามารถปรับตัวพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้ได้ โดยทางคณาจารย์ได้พัฒนาในส่วนของเรื่อง Soft Skill ให้แก่นิสิตมากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยให้นิสิตของเราสามารถปรับตัวกับการทำงานในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สุดท้าย อยากจะฝากสิ่งสำคัญในความคิดของผมคือหลักการทางวิศวกรรมโยธาที่ลืมไม่ได้คือ ความแข็งแรงและความปลอดภัย ซึ่งเป็นหลักสำคัญที่เราเน้นในการสอนนิสิตของเราเสมอ