บทสัมภาษณ์หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสำรวจ

ศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมชนม์ สถิระพจน์

ศ. ดร.เฉลิมชนม์ สถิระพจน์

หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสำรวจ

ภาควิชาวิศวกรรมสำรวจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดสอนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2498 ในเวลานั้นมุ่งเน้นด้านการผลิตแผนที่ภูมิประเทศ และงานรังวัดที่ดิน เพื่อให้เป็นไปตามทิศทางการพัฒนาของประเทศ แต่ปัจจุบันมีการประยุกต์องค์ความรู้ ทางด้านอวกาศและภูมิสารสนเทศมาใช้ในการเรียนการสอนมากขึ้น เห็นได้จากเมื่อก่อนจะใช้รังวัดในภาคพื้นดิน ก็เปลี่ยนแปลงมาเป็นใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย อาทิ ภาพถ่ายจากดาวเทียม หรือการทำแผนที่จากโดรน การรังวัดดาวเทียม GNSS ที่มีความแม่นยำสูง และอื่น ๆ ทางภาควิชาฯ เองก็ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จึงปรับเปลี่ยนวิชาเพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ภาควิชาวิศวกรรมสำรวจเปิดการเรียนการสอน ทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ถือว่าเป็นสถาบันการศึกษาแห่งเดียวในประเทศที่สอนวิศวกรรมสำรวจ

ในส่วนการเรียนการสอนในภาควิชาฯ นั้น มีทั้งทำการรังวัดความละเอียดสูง ยีออยด์- เดซี่ หรือ GNSS อีกกลุ่มหนึ่งก็คือทางด้าน Photogrammetry และ Remote Sensing ซึ่งจะเป็นภาพถ่ายทางอากาศและภาพถ่ายจากดาวเทียม นอกจากนั้นมีกลุ่มที่เรียกว่าสารสนเทศภูมิศาสตร์ ที่เราเรียกย่อ ๆ ว่า GIS

คณาจารย์ของภาควิชาวิศวกรรมสำรวจ ล้วนเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ นิสิตที่จบแล้วต้องการศึกษาต่อปริญญาโท ปริญญาเอก ก็เป็นที่ยอมรับในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก

ทิศทางอนาคตของประเทศไทยใน 10 ปีข้างหน้านั้น กิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาประเทศ การใช้ชีวิตประจำวัน จะต้องเกี่ยวพันกับข้อมูลทางตำแหน่ง ที่ต้องการความละเอียดถูกต้องสูงมากยิ่งขึ้น หรือที่ทุก ๆ คนได้คุ้นเคยกับระบบการ นำทางในรถยนต์ หรือที่เรียกว่า Google Map ในโทรศัพท์มือถือ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะทำให้เห็นความสำคัญของข้อมูลที่เรียกว่า Geospatial หรือข้อมูลที่เกี่ยวกับตำแหน่ง และในอนาคตคนเราก็ต้องการสิ่งเหล่านี้มากขึ้น ดังนั้นภาควิชาเองก็มีความจำเป็นต้องผลิตบัณฑิตในกลุ่มนี้เข้าไปรองรับการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ทั้งรถไฟความเร็วสูง หรือว่าอื่น ๆ ที่ต้องการผู้ที่มีความรู้ด้านนี้จำนวนมาก จึง การันตีได้ว่าบัณฑิตที่จบออกไปมีงานทำแน่นอน

ภาควิชาวิศวกรรมสำรวจ เป็นภาควิชาที่มีความจำเป็น และตลาดมีความต้องการ ผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจศาสตร์ด้านนี้จำนวนมาก ทั้งบริษัทเอกชน รัฐวิสาหกิจและ หน่วยงานภาครัฐ ต่างก็ต้องการวิศวกรสำรวจเพื่อทำงานในส่วนของการสนับสนุนกิจการขององค์กร