ภาควิชาวิศวกรรมโลหการ คณะวิศวฯ จุฬาฯได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2517 เนื่องจากทบวงมหาวิทยาลัยได้เล็งเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมหลักของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน อุตสาหกรรมการผลิตเหล็กเส้น
ภาควิชาวิศวกรรมโลหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2517 เนื่องจากทบวงมหาวิทยาลัย (ในสมัยนั้น) ได้เล็งเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมหลักของไทยหลายประเภท ที่ได้มีการเจริญเติบโตและมีการร่วมลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กเส้น
จากผลการสำรวจความต้องการวิศวกรสาขาโลหการที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ดำเนินการสำรวจก่อนหน้านั้น พบว่าในอุตสาหกรรมขาดแคลนวิศวกรโลหการเป็นจำนวนมากและมีแนวโน้มความต้องการที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่การผลิตบุคลากรด้านโลหะในภาคการศึกษาของรัฐยังไม่มีหน่วยงานที่ทำการสอนในสาขาวิศวกรรมโลหการ ยังคงมีเฉพาะที่เน้นหนักไปทางด้านการสำรวจเพื่อหาแหล่งแร่ การแต่งแร่และการถลุงสกัดเอาโลหะออกมาจากแร่ ดังนั้นการเปิดสอนทางด้านวิศวกรรมโลหการจึงเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาประเทศให้ก้าวไกลอย่างมาก เพราะศาสตร์ด้านโลหการครอบคลุมตั้งแต่การถลุงสกัดโลหะ การปรับปรุงคุณภาพและคุณสมบัติของโลหะผสม การเลือกใช้วัสดุ กรรมวิธีการผลิตทั้งการหล่อโลหะและการ ขึ้นรูปโลหะ การป้องกันการกัดกร่อน การเคลือบผิวโลหะ ตลอดจนการพัฒนานวัตกรรมด้านโลหะและวัสดุอื่น ๆ ด้วย
ด้านการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตสาขาวิศวกรรมโลหการ ภาควิชาฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงให้ก้าวหน้า ทันสมัยและเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมและประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถกล่าว โดยย่อได้ดังนี้
ในช่วงเริ่มแรกหลักสูตรระดับปริญญาตรีนี้มีเนื้อหาวิชาเกี่ยวข้องกับสาขาวิศวกรรมเหมืองแร่ ได้แก่ การแต่งแร่ (Mineral Dressing) โลหการการผลิต (Process Metallurgy) และโลหการกายภาพ (Physical Metallurgy) ต่อมาได้ขยายเนื้อหาวิชาในหลักสูตรให้กว้างมากขึ้น โดยบัณฑิตที่จบหลักสูตรสามารถจดทะเบียนวิศวกรควบคุมในงานวิศวกรรมสาขาเหมืองแร่ (กว. เหมืองแร่) หรือในงานวิศวกรรมสาขาอุตสาหการ (กว. อุตสาหการ) เมื่อเลือกเรียนกลุ่มรายวิชาที่เกี่ยวข้องทางด้านเหมืองแร่หรือด้านอุตสาหการ เช่น รายวิชาควบคุมคุณภาพ และยังปรับปรุงเนื้อหาวิชาการทางโลหการกายภาพ (Physical Metallurgy) ให้เน้นหนักไปทางด้าน Metal Fabrication ที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นรูปโลหะ การเชื่อมโลหะ การตัด-กลึงโลหะ ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมของประเทศ
ในปีการศึกษา 2544 ภาควิชาฯ ได้พิจารณาเห็นว่า แนวโน้มการใช้งานโลหะไม่ได้ใช้เพียงศาสตร์ทางด้านโลหะเพียงประเภทเดียว แต่ยังนำวัสดุประเภทอื่นทั้งกลุ่มพอลิเมอร์และกลุ่มเซรามิกมาใช้ร่วมกับกลุ่มโลหะด้วย จึงได้ปรับปรุงหลักสูตรให้กว้างมากขึ้นและเปลี่ยนชื่อหลักสูตรเป็นหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตสาขาวิศวกรรมโลหการและวัสดุ โดยเพิ่มรายวิชาทางด้านพอลิเมอร์และเซรามิก และรายวิชาสำหรับการเยี่ยมชมโรงงานเข้าไปเพื่อให้นิสิตได้มีความรู้ครอบคลุมศาสตร์ทางด้านนี้และได้สัมผัสการทำงานและกระบวนการผลิตวัสดุในอุตสาหกรรม
ในปีการศึกษา 2561 ที่ผ่านมา องค์ความรู้และเทคโนโลยีทางโลหะและวัสดุได้ก้าวรุดหน้าอย่างมาก ทั้งในด้านการนำมาใช้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือสร้างนวัตกรรมใหม่ ภาควิชาฯ จึงได้เพิ่มรายวิชาและจัดกลุ่มวิชาเลือกออกเป็น 2 กลุ่มให้เหมาะสมกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเพื่อให้บัณฑิตที่จบออกไปมีความรู้รอบและรู้ลึก และสามารถคิดเป็น ทำเป็น วิเคราะห์และแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว และสามารถนำวิชาการไปประยุกต์ในงานวิศวกรรมโลหการได้อย่างเหมาะสม กลุ่มวิชาแรกเรียกว่ากลุ่มวิชาวัสดุขั้นสูง (Advanced Materials) รายวิชาในกลุ่มนี้เกี่ยวข้องกับโลหะและวัสดุใหม่ที่ก้าวลํ้า ทันสมัย เช่น Superalloy, Electronic Materials, Cellular Metal, Composite Materials และ Nano-Structured and Amorphous Materials ส่วนกลุ่มที่สองเกี่ยวข้องกับกรรมวิธีผลิต คือ กลุ่มวิชากระบวนการผลิตขั้นสูง (Advanced Processing) มีรายวิชาที่น่าสนใจอย่างมาก เข่น Tribology of Materials, Surface Technology, Welding Engineering, Electroplating และ Jewelry Metals and Processing นอกจากรายวิชาเลือกที่น่าสนใจแล้วรายวิชาแกนระดับสาขาก็สำคัญมากเช่นกัน เพราะเป็นองค์ความรู้ที่ต้องมีในบัณฑิตโลหการทุกคน ได้แก่ วิชา Corrosion of Metals, Failure Analysis และ Materials Selection and Design
นอกจากนี้ เพื่อตอบสนองพัฒนาการทางอุตสาหกรรมในประเทศที่ต้องการบุคลากรที่มีระดับการศึกษาที่สูงขึ้นสำหรับงานอุตสาหกรรมที่มีระดับเทคโนโลยีที่สูงขึ้น ภาควิชาฯ จึงได้เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตใน พ.ศ. 2530 ต่อมาใน พ.ศ. 2536 ได้เปิดสอนหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (ระดับปริญญาโท) ขึ้น และในปีการศึกษา 2538 ได้เปิดสอนหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต (ระดับปริญญาเอก) โดยรับบัณฑิตและมหาบัณฑิตวิศวกรรมศาสตร์สาขาต่าง ๆ วิทยาศาสตร์หรือเทียบเท่า เข้าศึกษาทางด้านโลหวิทยา เพื่อพัฒนาและต่อยอดผลงานวิจัย ผลิตนักวิชาการและนักวิจัยทางด้านโลหะและวัสดุ และสร้างผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะด้านความปลอดภัยในการใช้ผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่อุตสาหกรรม สังคมและประเทศอย่างยั่งยืน
ด้านผลงานวิจัย ภาควิชาวิศวกรรมโลหการได้ผลิตผลงานวิจัยจำนวนมาก ในรูปบทความวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารวิชาการชั้นนำ ในฐานข้อมูลอันเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ยิ่งไปกว่านั้นผลงานวิจัยหลายชิ้นได้ถูกนำมาพัฒนาต่อยอดจนสามารถผลิตขึ้นมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างแท้จริง เช่น เสื้อเกราะจามจุรี กระดูกเทียมที่ทำจากโลหะไทเทเนียม สปริงเงิน สเตอร์ลิง
ด้านภาวะการได้งานทำและความก้าวหน้าในวิชาชีพ บัณฑิตที่จบจากภาควิชาฯ สามารถเข้าร่วมทำงานเป็นวิศวกรโลหการในองค์กรชั้นนำทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน เช่น ปตท การไฟฟ้า SCG และบริษัทในเครือ ภาคส่วนต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมยานยนต์และ ชิ้นส่วน อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมพลังงานและปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมโลหะอื่น ๆ โดยทำงานในฐานะวิศวกรฝ่ายผลิต ควบคุมคุณภาพ บำรุงรักษา (ประเมินสภาพเครื่องจักรอุปกรณ์ บนพื้นฐานของศาสตร์ด้านวิศวกรรมการกัดกร่อน ) ฯลฯ มีโอกาสสูงที่จะได้รับตำแหน่งสำคัญระดับผู้นำองค์กร นอกจากงานวิศวกรแล้ว ยังสามารถประกอบอาชีพอาจารย์ นักวิชาการ และ นักวิจัย ในสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงและสถาบันวิจัยชั้นนำ ระดับชาติ รวมถึงศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) และสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย
รายนามหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโลหการ
1. ศาสตราจารย์ ดร.มนู วีรบุรุษ 12 กันยายน 2517-21 พฤษภาคม 2524
2. ศาสตราจารย์มนัส สถิรจินดา 22 พฤษภาคม 2524-28 กุมภาพันธ์ 2526
3. รองศาสตราจารย์ ดร.เสถียร นิลธวัช 1 มีนาคม 2526-27 กุมภาพันธ์ 2528
4. รองศาสตราจารย์ ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ 28 พฤษภาคม 2529-28 พฤษภาคม 2537
5. รองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรชัย สมศิริ 29 พฤษภาคม 2529-30 พฤษภาคม 2541
6. รองศาสตราจารย์ ดร.ประสงค์ ศรีเจริญชัย 31 พฤษภาคม 2541-1 กุมภาพันธ์ 2545
7. รองศาสตราจารย์ชาคร จารุพิสิฐธร 29 มีนาคม 2545-1 มีนาคม 2549
8. รองศาสตราจารย์ ดร.กอบบุญ หล่อทองคำ 31 มีนาคม 2549-1 กรกฎาคม 2551
9. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกสิทธิ์ นิสารัตนพร 27 พฤศจิกายน 2551-31 มีนาคม 2552
10. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไสว ด่านชัยวิจิตร 25 มิถุนายน 2552-31 สิงหาคม 2554
11. อาจารย์ ดร.ปัญญวัชร์ วังยาว 1 กันยายน 2554-31 สิงหาคม 2558
12. ศาสตราจารย์ ดร.กอบบุญ หล่อทองคำ 1 กันยายน 2558-31 สิงหาคม 2562
13. รองศาสตราจารย์ ดร.เอกสิทธิ์ นิสารัตนพร 1 กันยายน 2562-ปัจจุบัน