ประวัติภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม

ใน พ.ศ. 2529 ภาควิชาวิศวกรรมสุขาภิบาลได้เปลี่ยนชื่อเป็นภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและได้ปรับปรุงหลักสูตรเพื่อให้ทัดเทียมและสอดคล้องกับการพัฒนางานวิศวกรรมสาขานี้

ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม เริ่มแรกได้จัดตั้งเป็นแผนกวิชาในคณะวิศวกรรมศาสตร์เมื่อ พ.ศ.2496 แต่เดิมมีชื่อว่า “ภาควิชาวิศวกรรมสุขาภิบาล” โดยมีศาสตราจารย์อรุณ สรเทศน์ เป็นหัวหน้าแผนก หลักสูตรที่เปิดสอนในระยะแรกมีเพียงระดับปริญญาโทและประกาศนียบัตรชั้นสูง โดยรับนิสิตที่มีวุฒิวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตมาแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากแผนกวิชาวิศวกรรมโยธา

ในการจัดตั้งภาควิชาในระยะแรกเริ่ม ภาควิชาได้รับความร่วมมือและช่วยเหลือตามสัญญาความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยเท็กซัสแห่งสหรัฐอเมริกา (Chulalongkorn-Texas University Contracts) แผนกวิชาที่ได้รับความช่วยเหลือตามโครงการนี้ ประกอบด้วยแผนกวิศวกรรมไฟฟ้า เครื่องกล และสุขาภิบาล สำหรับการสอนวิชาวิศวกรรมสุขาภิบาลนั้น มหาวิทยาลัยเท็กซัสได้ส่งศาสตราจารย์ Earnest W. Steel ศาสตราจารย์อาวุโสด้านวิศวกรรมสุขาภิบาล มาช่วยวางแผนและจัดตั้งแผนกวิชาร่วมกับ ศาสตราจารย์อรุณ สรเทศน์ ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาเป็นคนแรก ส่วนคณาจารย์ท่านอื่น ๆ นั้น ส่วนมากเป็นอาจารย์พิเศษที่เชี่ยวชาญเฉพาะวิชาจากกรมกองต่าง ๆ อาทิเช่น กรมอนามัยและกรมการแพทย์ สำหรับการสอนและการปฏิบัติการในห้องทดลองนั้น ในระยะ 2 ปีแรก ไม่สามารถเปิดเรียนในเวลาปกติเหมือนกับแผนกวิชาอื่นได้ เนื่องจากอาจารย์ผู้สอนและผู้เรียนต่างเป็นผู้ ที่มีงานประจำ จึงต้องเปิดสอนเป็น 2 ช่วงคือ ช่วงเช้า 8.00-10.00 น. และช่วงเย็น 16.30-18.30 น. โดยที่การเรียนการสอนวิชาบรรยายจะสามารถเรียนกันได้ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ส่วนวิชาปฏิบัติต่าง ๆ ต้องใช้เครื่องมือด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์ ได้อาศัยห้องปฏิบัติการของหน่วยงานของอาจารย์ผู้สอนเป็นสถานที่เรียน การเรียนในระยะนั้นจึงมีการโยกย้ายสถานที่กันแทบทุกวันในช่วงเย็น เนื่องจากตึกเรียน ยังสร้างไม่เสร็จเรียบร้อย และเครื่องมือทดลองวิทยาศาสตร์ต่างๆ ก็ยังมาไม่ถึง

ภาควิชาวิศวกรรมสุขาภิบาล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีผู้สำเร็จประกาศนียบัตร ชั้นสูงรุ่นแรกใน พ.ศ. 2497 และมีผู้จบปริญญาตรี ปริญญาโทรุ่นแรกใน พ.ศ. 2498 แม้ว่าจำนวนผู้สนใจและเห็นความสำคัญของวิชาแขนงนี้จะมีไม่มากนัก ในระยะแรก แต่ต่อมาหน่วยราชการต่าง ๆ โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เล็งเห็นความสำคัญของงานแขนงนี้ จึงได้ช่วยกัน ผลักดันให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชานี้ได้มีโอกาสใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญในการป้องกันแก้ไขปัญหาสภาวะแวดล้อม ตลอดจนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ ทำให้มี ผู้หันมาสนใจเรียนวิชาวิศวกรรมสุขาภิบาลมากขึ้น

ใน พ.ศ. 2529 ภาควิชาวิศวกรรมสุขาภิบาล ได้เปลี่ยนชื่อเป็นภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม และได้ปรับปรุงหลักสูตรเพื่อให้ทัดเทียมและสอดคล้องกับการพัฒนางานวิศวกรรมสาขานี้

หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต นิสิตจะเรียนวิชาพื้นฐาน ได้แก่ วิชาพื้นฐานทั่วไป วิชาพื้นฐานทางวิศวกรรม และวิชาแกนของภาควิชาฯ ซึ่งประกอบด้วยเคมีของนํ้าประปาและนํ้าเสีย จุลชีววิทยา การประปา เทคโนโลยีในการควบคุมและบำบัดมลพิษทางนํ้า อากาศ มูลฝอย และของเสียอันตราย ในปัจจุบัน ภาควิชาจะรับนิสิตชั้นปีที่ 2 ของคณะวิศวกรรมศาสตร์มาศึกษาในภาควิชาปีละ 40 คน

วิศวกรรมสิ่งแวดล้อมเป็น 1 ใน 7 สาขาวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ตามกฎกระทรวงกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรม และวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ. 2550 ผู้ประกอบวิชาชีพตามประเภทและขนาดของงาน ได้แก่ งานระบบประปา ระบบทำนํ้าสะอาด ระบบบำบัดนํ้าเสีย ระบบการนำนํ้าทิ้งกลับมาใช้ใหม่ ระบบการพัฒนาพื้นที่หรือแหล่งนํ้ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบควบคุมมลพิษทางอากาศ ระบบการจัดการมลภาวะทางเสียง ระบบการฟื้นฟูคุณภาพดิน ระบบการจัดการมูลฝอย ระบบการจัดการกากอุตสาหกรรม และระบบดับเพลิงและป้องกันอัคคีภัย ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ตามพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 หลักสูตรสามารถสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตในระดับภาคีวิศวกรได้

วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม

สำหรับงานวิจัยและการเรียนการสอนในระดับปริญญามหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบันภาควิชารับนิสิตที่จบการศึกษาในระดับปริญญาบัณฑิต ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญามหาบัณฑิตและจบการศึกษาปีละประมาณ 50 คน และได้มี ผู้จบการศึกษาในระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิตเป็นคนแรกใน ปีการศึกษา 2545

ปัจจุบันภาควิชามีคณาจารย์ประจำจำนวน 21 คน มีห้องปฏิบัติการ 8 ห้องปฏิบัติการ ได้แก่ ห้องปฏิบัติการเคมีของนํ้า ห้องปฏิบัติการเคมีของนํ้าเสีย ห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยา ห้องปฏิบัติการคุณภาพอากาศ ห้องปฏิบัติการมูลฝอย ห้องปฏิบัติการของเสียอันตราย และห้องปฏิบัติการวิจัยระดับบัณฑิตศึกษา และมีศูนย์แห่งความเป็นเลิศ 4 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์เครือข่ายโครงการจัดการสิ่งแวดล้อมของเสียอันตราย ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการจัดการคุณภาพอากาศ โครงการจัดการของเสียอุตสาหกรรม และโครงการ Leachate and Hazardous Waste Treatment

รายนามหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม

1. ศาสตราจารย์อรุณ สรเทศน์* พ.ศ. 2498-2517
2. ศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ เศรษฐมานิต* 12 กันยายน 2517-25 ตุลาคม 2522
3. รองศาสตราจารย์สุดใจ จำปา 26 ตุลาคม 2522-26 ตุลาคม 2526
4. รองศาสตราจารย์สวัสดิ์ ธรรมิกรักข์ 27 ตุลาคม 2526-30 กันยายน 2529
5. ศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ 1 ตุลาคม 2529-14 เมษายน 2533
6. รองศาสตราจารย์วงศ์พันธ์ ลิมปเสนีย์ 15 เมษายน 2533-15 มกราคม 2537
7. รองศาสตราจารย์สุรี ขาวเธียร 1 เมษายน 2537-30 กันยายน 2544
8. ผู้ช่วยศาสตราจารย์บุญยง โลห์วงศ์วัฒน 1 ตุลาคม 2544-30 กันยายน 2547
9. รองศาสตราจารย์ ดร.สุธา ขาวเธียร 1 ตุลาคม 2548-24 พฤศจิกายน 2553
10. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัยพร ภู่ประเสริฐ 25 พฤศจิกายน 2553-4 สิงหาคม 2559
11. รองศาสตราจารย์ ดร.เขมรัฐ โอสถาพันธุ์ 5 สิงหาคม 2559-ปัจจุบัน

หมายเหตุ: *หัวหน้าแผนกวิชาวิศวกรรมสุขาภิบาล