ประวัติภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า

ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2459 ซึ่งในขณะนั้นคณะวิศวกรรมศาสตร์ยังไม่แยกเป็นภาควิชาต่าง ๆและหลักสูตรการเรียนยังเป็นเพียงระดับประกาศนียบัตรกับประกาศนียบัตรชั้นสูงเท่านั้น

เหตุการณ์สำคัญของภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า

  • พ.ศ. 2456 1 มิถุนายน ก่อตั้งโรงเรียนยันตรศึกษา โดยมีวิชาวิศวกรรมไฟฟ้าเป็นหนึ่งในหลักสูตรแรกที่เปิดสอน
  • พ.ศ. 2459 ก่อตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนยันตรศึกษาเปลี่ยนมาเป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459
  • พ.ศ. 2474 เดือนมิถุนายน คณะวิศวฯ แยกเป็น 3 ภาควิชา ได้แก่ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล และภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
  • พ.ศ. 2476 ปรับปรุงหลักสูตรขึ้นเป็นปริญญาบัณฑิต ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิ ร็อคกีเฟลเลอร์ โดยทางมูลนิธิได้ส่ง ศ. ดร.ชาร์ลส์ อี. เอ็มสัน เกเวิร์ตซ์1 ชาวสวีเดน ซึ่งได้รับปริญญาวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า จากสถาบันเทคโนโลยี แมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา มาช่วยจัดหลักสูตรการสอนให้ และเป็นหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าด้วย อีก 2 ปีต่อมา คือ พ.ศ. 2478 มีผู้เรียนจบหลักสูตรและเข้ารับปริญญาวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าเป็นครั้งแรก จำนวน 12 คน 
  • พ.ศ. 2478 นิสิตภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าสำเร็จปริญญาตรีรุ่นแรก จำนวน 12 คน
  • พ.ศ. 2484 เริ่มวางหลักสูตรการศึกษาขั้นปริญญาวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า แต่เนื่องจากระยะนั้นเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลักสูตรปริญญามหาบัณฑิตจึงได้ถูกระงับไว้ชั่วคราว จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2497 จึงสามารถเปิดหลักสูตรปริญญามหาบัณฑิตได้เป็นปีแรก
  • พ.ศ. 2507 คณะวิศวกรรมศาสตร์ได้รับความช่วยเหลือจากสหราชอาณาจักร ภายใต้แผนการโคลัมโบจากสหราชอาณาจักร มีการเปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง และอาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าหลายท่าน ได้รับทุนไปศึกษาต่อที่สหราชอาณาจักร
  • พ.ศ. 2518 จัดตั้งห้องปฏิบัติการวิจัยสิ่งประดิษฐ์สาร กึ่งตัวนำ
  • พ.ศ. 2524 ได้มีการขยายห้องทดลองไฟฟ้าแรงสูง โดยสร้างตึกเพิ่มเติมต่อออกไปจากตึกเดิม
  • พ.ศ. 2526 เริ่มหลักสูตรปริญญาวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า
  • พ.ศ. 2529 ห้องปฏิบัติการวิจัยและสิ่งประดิษฐ์สาร กึ่งตัวนำได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อยกระดับเครื่องมือการวิจัย
  • พ.ศ. 2530 จัดตั้งห้องปฏิบัติการเครื่องมือวัดอุตสาหกรรมโดยความช่วยเหลือจากบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด นิสิตภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าสำเร็จหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตคนแรก
  • พ.ศ. 2532 จัดตั้งห้องปฏิบัติการออกแบบอิเล็กทรอนิกส์
  • พ.ศ. 2537 เริ่มโครงการศิษย์ก้นกุฏิด้วยความสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อปรับปรุงคุณภาพของบัณฑิตศึกษาและการวิจัย
  • พ.ศ. 2538 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยให้การสนับสนุนเป็นเงิน 169.9 ล้านบาท เป็นเวลา 5 ปี ในการดำเนินงานศูนย์เชี่ยวชาญพิเศษด้านเทคโนโลยีไฟฟ้ากำลัง เพื่อเพิ่มจำนวนบัณฑิตและส่งเสริมการวิจัยในสาขาไฟฟ้ากำลัง
  • พ.ศ. 2539 ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้ายกระดับและจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิจัย 6 แห่ง ได้แก่ ระบบโทรคมนาคม คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ประมวลผลสัญญาณดิจิทัล ระบบควบคุม อิเล็กทรอนิกส์ทางการแพทย์ และอิเล็กทรอนิกส์ทางแสง
  • พ.ศ. 2545 ภาควิชาฯ ได้รับการคัดเลือกให้เป็น Host Institution สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าในโครงการ AUN/SEED-Net (Asean University Network/Southeast Asia Engineering Education Development Network) เพื่อผลิตบุคลากร ทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้าให้แก่ Member Institute ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยในประเทศสมาชิกของกลุ่ม ASEAN และ มีมหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่นจำนวน 5 มหาวิทยาลัย เป็นผู้สนับสนุน
ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
  • พ.ศ. 2550 นิสิตต่างชาติภายใต้โครงการ AUN/SEED-Net สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกคนแรก และในปีเดียวกันศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (NANOTECH) ได้เลือกห้องปฏิบัติการวิจัยสิ่งประดิษฐ์สารกึ่งตัวนำ Semiconductor Device Research Laboratory (SDRL)] ให้เป็นศูนย์เชี่ยวชาญทางด้านนาโนอิเล็กทรอนิกส์และนาโนโฟโตนิกส์ (Center of Excellence in Nanoelectronics and nanophotonics) พ.ศ. 2551 ทีม Plasma-Z ซึ่งมีนิสิตภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าร่วมทีม ชนะเลิศการแข่งขัน World Robocup 2008 ที่ประเทศจีน ทีมนานาชาติซึ่งมีหนึ่งในสมาชิกนิสิตภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าร่วมทีม ชนะเลิศการแข่งขันประกวดออกแบบหุ่นยนต์ IDC Robocon 2008 ที่ประเทศบราซิล และ “ระบบบาร์โค้ดสามมิติเชิงซ้อนแบบเคลื่อนที่ได้” สิ่งประดิษฐ์ของอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าได้รับการจดสิทธิบัตร
  • พ.ศ. 2552 สถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (TRIDI) สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ได้ให้ทุนส่งเสริมและสนับสนุนในโครงการ “กลุ่มเชี่ยวชาญแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้านการสื่อสารคลื่นแสงและความเร็วสูง” เพื่อผลิตวิศวกรด้านไฟฟ้าสื่อสารและสร้างความเชื่อมโยงงานวิจัยเข้ากับภาคอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

รายนามหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า

1. ศาสตราจารย์ ดร.ชาร์ลส์ อี. เอ็มสัน เกเวิร์ตซ์ พ.ศ. 2476-2491
2. ศาสตราจารย์พระเจริญวิศวกรรม (รักษาการ) พ.ศ. 2491-2495
3. ศาสตราจารย์ ดร.บุญรอด บิณฑสันต์ พ.ศ. 2495-2504
4. ศาสตราจารย์พระเจริญวิศวกรรม (รักษาการ) พ.ศ. 2504-2505
5. ศาสตราจารย์สุวรรณ์ แสงเพ็ชร์ พ.ศ. 2505-2507
6. ศาสตราจารย์พิเศษ ปัตตะพงษ์ (รักษาการ) พ.ศ. 2507-2513
7. ศาสตราจารย์อาภรณ์ เก่งพล พ.ศ. 2513-2516
8. รองศาสตราจารย์ ดร.ประโมทย์ อุณห์ไวทยะ พ.ศ. 2516-2520
9. ศาสตราจารย์ ดร.จรวย บุญยุบล พ.ศ. 2520-2522
10. รองศาสตราจารย์ ดร.ประโมทย์ อุณห์ไวทยะ พ.ศ. 2522-2524
11. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ไพบูลย์ ไชยนิล พ.ศ. 2524-2526
12. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.โคทม อารียา พ.ศ. 2526-2530
13. รองศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์ อยู่ถนอม พ.ศ. 2530-2534
14. ศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ ปัญญาแก้ว พ.ศ. 2534-2538
15. รองศาสตราจารย์ ดร.ชาตรี ศรีไพพรรณ พ.ศ. 2538-2540
16. รองศาสตราจารย์ ดร.พิชนี โพธารามิก พ.ศ. 2540-2542
17. รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย จิตะพันธ์กุล พ.ศ. 2542-2546
18. รองศาสตราจารย์ ดร.วราภรณ์ เชาว์วิศิษฐ พ.ศ. 2546-2549
19. รองศาสตราจารย์ ดร.ชุมพล อันตรเสน พ.ศ. 2549-2555
20. ศาสตราจารย์ ดร.เดวิด บรรเจิดพงศ์ชัย พ.ศ. 2555-2559
21. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คมสัน เพ็ชรรักษ์ พ.ศ. 2559-ปัจจุบัน