ประวัติภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์

วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (Computer Engineering) คือ ศาสตร์ว่าด้วยการออกแบบ จัดสร้าง ลงมือปฏิบัติ และบำรุงรักษาซึ่งระบบคอมพิวเตอร์หรือระบบใด ๆ ที่มีการควบคุมและประมวลผลผ่านคอมพิวเตอร์ โดยครอบคลุมทั้งส่วนที่เป็นฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ของระบบนั้น ทั้งนี้ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์อาจพิจารณาได้ว่าเป็นการ รวมกันระหว่างศาสตร์ 2 ศาสตร์ นั่นคือ วิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science) และวิศวกรรมไฟฟ้า (Electrical Engineering) โดยในการศึกษาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์นั้น จะมุ่งศึกษาหลักการและทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ และวิศวกรรม ตลอดจนการนำหลักการดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ เพื่อแก้ไขปัญหาทางเทคนิคเกี่ยวเนื่องกับการออกแบบฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ เครือข่าย และโพรเซส

นิยามโดย Association for Computing Machinery (ACM)
อ้างอิงจาก http://www.acm.org/education/education/curric_vols/CE-Final-Report.pdf หน้า 4

ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์มีประวัติและ ความเป็นมายาวนาน โดยเริ่มจากการจัดตั้งหน่วยคอมพิวเตอร์ไซแอนส์ หลังจากนั้นได้มีการดำเนินการขอแยกเป็นหน่วยอิสระเพื่อก่อตั้งเป็น ภาควิชา และมีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงมากมายที่นำ ไปสู่การก่อตั้งภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ย้อนหลังไปเมื่อราว พ.ศ. 2512 ดร.แถบ นีละนิธิ คณบดีคณะบัณฑิตวิทยาลัย และอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในขณะนั้น ได้เสนอโครงการจัดตั้ง “หน่วยคอมพิวเตอร์ไซแอนส์” (Computer Science) ขึ้นในบัณฑิตวิทยาลัย โดยเริ่มดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2512 เป็นหน่วยงาน ขึ้นตรงต่อบัณฑิตวิทยาลัย ใช้สถานที่ชั้น 2 ของตึกไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งในเวลานั้นมูลนิธิ ฟุลไบรท์ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยมักจะจัดส่งศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญมาร่วมสัมมนาหรือร่วมประชุมทางวิชาการที่หน่วยคอมพิวเตอร์ไซแอนส์จัดขึ้น นอกจากนั้น ศูนย์วิจัยและพัฒนาการทหาร

นอกจากนั้น ศูนย์วิจัยและพัฒนาการทหาร ซึ่งเป็นผู้นำคอมพิวเตอร์ไอบีเอ็ม 1800 มาติดตั้งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็มักจะส่งผู้เชี่ยวชาญ ชาวต่างประเทศมาช่วยสอนและอบรมนิสิตให้ด้วย ในระยะแรก และยังได้ขอให้บริษัท System Development Computer มาดำเนินการสร้างระบบ Time Sharing และโครงการภาษาไทยให้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีอาจารย์จากต่างประเทศอีกหลายคนที่เป็นผู้บรรยายพิเศษบ้าง เป็นที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศบ้าง เป็นที่ปรึกษาด้านการศึกษาบ้าง เป็นที่ปรึกษาด้านการวิจัยบ้าง

ต่อมาราวเดือนกันยายน พ.ศ. 2515 ศาสตราจารย์ ดร.อิทธิพล ผดุงชีวิต ผู้อำนวยการหน่วยคอมพิวเตอร์ไซแอนส์ ได้ทำเรื่องเสนอขอตั้งหน่วยคอมพิวเตอร์ ไซแอนส์เป็นแผนกอิสระ ซึ่งศาสตราจารย์อรุณ สรเทศน์ อธิการบดีในขณะนั้น ได้นำเรื่องนี้เข้า คณะกรรมการวิชาการ และคณะกรรมการพัฒนามหาวิทยาลัย กรรมการทั้ง 2 ชุดเห็นควรให้เสนอเรื่องนี้ต่อที่ประชุมคณบดี ซึ่งได้มีมติให้จัดการดำเนินงาน ของหน่วยคอมพิวเตอร์ไซแอนส์ใหม่ ที่ประชุมได้มีการเปลี่ยนแปลงมติใหม่ ดังนี้

  • ให้ดำเนินการยุบหน่วยคอมพิวเตอร์ไซแอนส์
  • ให้ดำเนินการจัดตั้งภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ขึ้นในคณะวิศวกรรมศาสตร์
  • เพื่อจัดดำเนินการด้าน การเรียนและการสอน ซึ่งนับเป็นภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์แห่งแรกของประเทศไทย และเป็นภาควิชาที่ 9 ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยได้รับอนุมัติเมื่อ วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2518 และถือว่าเป็นวันก่อตั้ภาควิชาสืบมาจนถึงปัจจุบัน
  • ให้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์บริการคอมพิวเตอร์ ซึ่งต่อมาใช้ ชื่อว่า “สถาบันบริการคอมพิวเตอร์” โดยทำงานขึ้นตรงกับอธิการบดี เพื่อให้บริการด้านการใช้คอมพิวเตอร์ทั้งในด้านการบริหารและ การเรียนการสอน และได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาอนุมัติเมื่อ วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2521
โดยทั้ง 2 หน่วยงานตามข้อ 2.) และ 3.) ตั้งอยู่ที่อาคารแถบ นีละนิธิ และผลจากการเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้มีการสอบถามความสมัครใจ เพื่อโอนย้ายบุคลากรทั้งหมดจากหน่วยคอมพิวเตอร์ ไซแอนส์มายังภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ที่เปิดขึ้นใหม่นี้แทน ซึ่งคณาจารย์และบุคลากรทั้งหมดก็ตกลงที่จะย้ายสังกัดตามมาด้วย และได้ รศ. ดร.สวัสดิ์ แสงบางปลา ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าภาควิชาคนแรก และดำรงตำแหน่งผู้ช่วยคณบดีซึ่งมาดูแลงานด้านคอมพิวเตอร์ด้วย
ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์

การดำเนินงานของภาควิชา

นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเป็นภาควิชา ก็ได้เริ่มเปิดสอนหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ในระดับปริญญาตรีขึ้นเป็นครั้งแรกในปีการศึกษา 2518 โดยรับนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่กำลังจะขึ้นปี 2 มาเรียนต่ออีก 3 ปี หลักสูตรนี้จะเรียนทางด้านฮาร์ดแวร์ (40%) และซอฟต์แวร์ (60%) เนื่องจากความต้องการของนิสิตที่จะเข้าเรียนมีมากกว่าที่ภาควิชาจะรับได้ ดังนั้นนิสิตที่เลือกเรียนในวิชานี้ได้จะต้องเป็นผู้ที่ได้คะแนนเฉลี่ยสูงเป็นอันดับต้นของคณะ

ในปีการศึกษา 2535 ภาควิชาได้เริ่มเปิดหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ โดยรับนิสิตที่สำเร็จหลักสูตร วศ.บ. และเน้นที่การทำวิทยานิพนธ์เป็นหลัก

ในปีการศึกษา 2541 ภาควิชาได้เริ่มเปิดหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สำหรับหลักสูตร วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ นั้น ภาควิชาฯ ได้รับโอนมาดำเนินการสอนต่อจากหน่วยคอมพิวเตอร์ ไซแอนส์ที่ยุบไป โดยเปิดรับสมัครและมีการสอบเข้า ซึ่งหลักสูตรนี้ต่อมาได้เปิดสอนในภาคนอกเวลาราชการเพิ่มเติมขึ้นเมื่อ พ.ศ.2533 นอกเหนือจากภาคปกติด้วย

ส่วนหลักสูตรประกาศนียบัตรนั้นได้ปิดรับตั้งแต่มีการจัดตั้ง เป็นภาควิชาใน พ.ศ. 2518 แต่ยังคงสอนนิสิตที่รับเข้ามาแล้วจนจบหลักสูตร

รายนามหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์

1. รศ. ดร.สวัสดิ์ แสงบางปลา พ.ศ. 2518-2522
2. ผศ.สุยุชน์ สัตยประกอบ พ.ศ. 2522-2524 และ พ.ศ. 2532-2535
3. รศ.เดือน สินธุพันธ์ประทุม พ.ศ. 2524-2526 พ.ศ. 2535-2539
4. ผศ.สุเมธ วัชระชัยสุรพล พ.ศ. 2526-2528 และ พ.ศ. 2530-2532
5. รศ. ดร.วันชัย ริ้วไพบูลย์ พ.ศ. 2528-2530
6. รศ. ดร.สาธิต วงศ์ประทีป พ.ศ. 2539-2543 และ พ.ศ. 2548-2552
7. ผศ. ดร.สืบสกุล พิภพมงคล พ.ศ. 2543-2548
8. รศ. ดร.วิวัฒน์ วัฒนาวุฒิ 29 ธ.ค. 2551 ถึง 1 พ.ค. 2555
9. ผศ.บุญชัย โสวรรณวณิชกุล 1 มิ.ย. 2555 ถึง 1 พ.ค. 2558
10. ผศ. ดร.ณัฐวุฒิ หนูไพโรจน์ 1 พ.ค. 2558 ถึง 30 เม.ย. 2562
11. ผศ. ดร.อรรถวิทย์ สุดแสง 1 พ.ค. 2562 ถึง ปัจจุบัน