ประวัติภาควิชาวิศวกรรมโยธา

นานกว่า 101 ปี ที่ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สร้างนิสิตที่มีความรู้และคุณธรรมเป็นเลิศ งานวิจัยที่ลํ้าหน้า และงานบริการสังคมสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน ซึ่งชื่อเสียงของภาควิชาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น สามารถเห็นได้จากผลงานระดับโลก ผลงานระดับประเทศของนิสิตเก่าที่ได้สร้างผลงานไว้อย่างมากมาย

การเรียนการสอนในสาขาวิศวกรรมโยธามีกำเนิดในประเทศไทยมาก่อนการสถาปนา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวคือประมาณ พ.ศ. 2424 เมื่อสถาปนาโรงเรียนข้าราชการพลเรือนในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โอนโรงเรียนเกษตรแผนกวิศวกรรมการคลองให้มาสังกัดในโรงเรียนนี้ และต่อมาใน พ.ศ. 2455 ได้มีการสำรวจความต้องการของส่วนราชการและกรมกองต่าง ๆ พบว่ามีความต้องการความรู้ทางวิศวกรรมมากขึ้น ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า เจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงพระกรุณาฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนยันตรศึกษาขึ้นในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2456 ถือเป็นการกำเนิดคณะวิศวกรรมศาสตร์ และสาขาวิศวกรรมโยธาถือเป็นหน่วยหนึ่งของโรงเรียนนี้ เรื่อยมา จนถึง พ.ศ. 2459 ได้มีการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้น และโรงเรียนยันตรศึกษาได้เปลี่ยนชื่อเป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬา- ลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ใน พ.ศ. 2478 ได้มีการจัดตั้งเป็นแผนกวิชาอย่างไม่เป็นทางการและมีบัณฑิตเข้ารับปริญญา วิศวกรรมศาสตรบัณฑิตเป็นรุ่นแรก (ก่อนหน้านี้ เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิศวกรรมศาสตร์เป็นหลักสูตร 3 ปี) หลังจากนั้นก็ได้การปรับปรุงและขยายงานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยใน พ.ศ. 2484 ได้จัดหลักสูตรปริญญาวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธาขึ้นเป็นครั้งแรก แต่หลักสูตรนี้ต้องหยุดชะงักชั่วคราวในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เพียง 2-3 รุ่น จนถึง พ.ศ. 2502 บัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ภายใต้สนธิสัญญาระหว่างประเทศในองค์การ SEATO สปอ. ได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดการสอนระดับปริญญามหาบัณฑิตในระบบสากลขึ้นเป็นครั้งแรก และให้บัณฑิตวิศวกรรมโยธาของแผนกวิชาร่วมศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษากับบัณฑิตวิทยาลัยใหม่ที่ตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2514 บัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ สปอ. ได้ยุบเลิกและเปลี่ยนชื่อเป็นสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และย้ายไปที่รังสิต จังหวัดปทุมธานี หลังจากนั้น แผนกวิชาวิศวกรรมโยธาจึงได้เริ่มดำเนินการสอนระดับบัณฑิตศึกษาต่อไปตามเดิม ต่อมาแผนกวิชาวิศวกรรมโยธาได้ปรับปรุงหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาสาขาวิศวกรรมโยธาใหม่ โดย แบ่งออกเป็น 4 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาวิศวกรรมโครงสร้าง สาขาวิชาวิศวกรรมปฐพี สาขาวิชาวิศวกรรมชลศาสตร์ และสาขาวิชาวิศวกรรมการทาง ซึ่งต่อมาได้มีการเปลี่ยนสาขาวิชาวิศวกรรม ชลศาสตร์เป็นสาขาวิชาวิศวกรรมแหล่งนํ้า และ สาขาวิชาวิศวกรรมการทางเป็นสาขาวิชาวิศวกรรมการขนส่ง

ใน พ.ศ. 2522 ได้เปลี่ยนชื่อจากแผนกวิชาวิศวกรรมโยธาเป็นภาควิชาวิศวกรรมโยธา ตาม พ.ร.บ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2522 และใน พ.ศ. 2526 ภาควิชาฯ ได้ปรับปรุงหลักสูตรระดับมหาบัณฑิต โดยให้เพิ่มอีก 1 สาขา ในภาควิชาวิศวกรรมโยธาคือสาขาวิชาบริหารการก่อสร้างขึ้น และในปีเดียวกันนั้นได้เปิดสอนหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตจนถึงปัจจุบัน ใน พ.ศ. 2530 สาขาวิศวกรรมแหล่งนํ้าได้จัดตั้งเป็นภาควิชาวิศวกรรมแหล่งนํ้า เปิดสอนเฉพาะระดับบัณฑิตศึกษา แต่การเรียนการสอนในระดับปริญญาบัณฑิตยังคงให้บริการต่อภาควิชาวิศวกรรมโยธาอย่างต่อเนื่อง

การพัฒนาภาควิชาฯ ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง เสริมสร้างความเจริญก้าวหน้าทั้งด้านการเรียนการสอน การศึกษาวิจัยและการบริการวิชาการในลักษณะต่าง ๆ ทั้งการจัดอบรม การให้คำปรึกษางานความเชี่ยวชาญเฉพาะทางและการถ่ายโอนเทคโนโลยีระดับสูงจากต่างประเทศ และการเข้าร่วมเป็นกรรมการให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ในภาครัฐและเอกชน

ภาควิชาวิศวกรรมโยธา

ภาควิชาได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาวิจัยระดับนานาชาติ โดยวางพื้นฐานการศึกษารองรับความต้องการวิศวกรโยธาในระดับสากล โดยการปรับปรุงหลักสูตรให้รองรับการเรียนการสอนและการทำวิจัยของนิสิต ต่างชาติ และภาควิชาได้เข้าร่วมโครงการความร่วมมือในระดับนานาชาติ อาทิ โครงการ AUN/SEED-Net เพื่อพัฒนาบุคลากรในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยในภูมิภาคเข้าศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา โครงการหลักสูตรปริญญาโทร่วมสองสถาบันกับมหาวิทยาลัยฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น โครงการหลักสูตรวิศวกรรมระบบรางในระดับปริญญาโทร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือและมหาวิทยาลัยอาเคน ประเทศเยอรมนี นอกจากนั้น ภาควิชาได้เข้าร่วมหลักสูตรสหสาขาในระดับบัณฑิตศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แก่ หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาวิศวกรรมและเทคโนโลยีการป้องกันประเทศ ตั้งแต่ พ.ศ. 2557 และ หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการความเสี่ยงและ ภัยพิบัติ ตั้งแต่ พ.ศ. 2559

รายนามหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธา

1. ศาสตราจารย์พระเจริญวิศวกรรม พ.ศ. 2474-2504
2. ศาสตราจารย์ ดร.ชัย มุกตพันธุ์ พ.ศ. 2504-2518
3. ศาสตราจารย์ ดร.นิวัตต์ ดารานันทน์ พ.ศ. 2518-2522
4. ศาสตราจารย์สนั่น เจริญเผ่า พ.ศ. 2522-2526
5. ศาสตราจารย์จักรี จัตุฑะศรี พ.ศ. 2526-2530
6. ศาสตราจารย์วรุณ คุณวาสี พ.ศ. 2530-2532
7. ศาสตราจารย์ ดร.วินิต ช่อวิเชียร พ.ศ. 2532-2534
8. รองศาสตราจารย์ ดร.การุญ จันทรางศุ พ.ศ. 2534-2535
9. รองศาสตราจารย์เสถียร ชลาชีวะ พ.ศ. 2535-2537
10. ศาสตราจารย์วัฒนา ธรรมมงคล พ.ศ. 2537-31 มี.ค. 2539
11. รองศาสตราจารย์อนุกัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา 1 เม.ย. 2539-3 มี.ค. 2541
12. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรพล จิวาลักษณ์ 30 มี.ค. 2541-16 ส.ค. 2542
13. ศาสตราจารย์ ดร.เอกสิทธิ์ ลิ้มสุวรรณ 26 พ.ย. 2542-15 ก.ย. 2544
14. รองศาสตราจารย์ ดร.วิสุทธิ์ ช่อวิเชียร 26 ต.ค. 2544-25 ต.ค. 2548
15. รองศาสตราจารย์ ดร.ธนิต ธงทอง 28 ต.ค. 2548-30 เม.ย. 2551
16. รองศาสตราจารย์ ดร.พูลศักดิ์ เพียรสุสม 3 ก.ค. 2551-2 ก.ค. 2555
17. รองศาสตราจารย์ ดร.สรวิศ นฤปิติ 3 ก.ค. 2555-7 พ.ค. 2558
18. รองศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล 26 มิ.ย. 2558-30 มิ.ย. 2559
19. ศาสตราจารย์ ดร.ธีรพงศ์ เสนจันทร์ฒิไชย 1 ก.ค. 2559-ปัจจุบัน