บทสัมภาษณ์ประธานหลักสูตรวิศวกรรมชีวเวช

ผศ. ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์

ผศ. ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์

ประธานหลักสูตรวิศวกรรมชีวเวช

หลักสูตรวิศวกรรมชีวเวช เป็นหลักสูตรที่เริ่มต้นจากความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์กับคณะแพทยศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับอีกหลายคณะ ทั้งในสาขาวิทยาศาสตร์กายภาคและวิทยาศาสตร์สุขภาพ อาทิ คณะวิทยาศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ซึ่งอัตลักษณ์ของหลักสูตรก็คือ ความเป็นหลักสูตรสหสาขาอย่างแท้จริง เนื่องจากมีการผสมผสาน องค์ความรู้หลากหลายด้านในการพัฒนางานวิจัยนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีทางการแพทย์ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น

หลักสูตรนี้มีความโดดเด่นในด้านความร่วมมืออย่างเข้มแข็งของคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ นิสิตที่เรียนกับหลักสูตรจะมีอาจารย์ที่ปรึกษา 2 ท่าน ท่านหนึ่งจะเป็นอาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเทคโนโลยี และอีกท่านจะเป็นอาจารย์จากคณะแพทยศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์สุขภาพคณะอื่น ๆ ที่เป็นผู้ใช้เทคโนโลยีและเข้าใจปัญหาที่แท้จริง โดยอาจารย์ทั้ง 2 ท่านจะเป็นที่ปรึกษาและคอยให้คำแนะนำแก่นิสิตอย่างใกล้ชิด

ที่ผ่านมาความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่งสำหรับหลักสูตรคือ การผลิตต้นแบบนวัตกรรมต่าง ๆ ที่มีความพร้อมสำหรับนำไปประยุกต์ใช้งานจริง สามารถนำไปใช้ช่วยเหลือผู้ป่วยได้จริง ๆ อาทิ วัสดุปลูกถ่ายอวัยวะเทียม ขาเทียม หรืออุปกรณ์การแพทย์ เช่น เซ็นเซอร์สำหรับตรวจวัดค่าต่าง ๆ ในร่างกาย นอกจากนี้หลักสูตรยังมีความภูมิใจที่ได้ผลิตบัณฑิตหลากหลายรุ่นที่จบออกไปทำงานเป็นวิศวกรชีวเวช เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นบุคลากรที่สำคัญของประเทศชาติในด้านนี้เป็นอย่างยิ่ง

หลักสูตรมีเป้าหมายที่จะผลิตนวัตกรรมที่สามารถนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยได้จริง โดยเฉพาะผู้ป่วยภายในประเทศที่ยังมีความต้องการการรักษาที่มีคุณภาพมากขึ้น เพื่อ ให้ผู้ป่วยภายในประเทศหรือประชากรในประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ผลิตขึ้นได้เองภายในประเทศ

นอกจากนี้หลักสูตรยังคาดหวังว่า จะผลิตวิศวกรชีวเวชและบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านวิศวกรรมชีวเวชให้แก่ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ของประเทศให้ยั่งยืน และเป็นประโยชน์ต่อทางด้านสาธารณสุขของประเทศไทย และจะลดการนำเข้าเทคโนโลยีทางการแพทย์จากต่างประเทศได้อีกด้วย

หลักสูตรวิศวกรรมชีวเวช มีคำขวัญว่า “Engineer Your Life” หรือ “วิศวกรที่ซ่อมสร้างร่างกายมนุษย์”